วว. โชว์ “จำปีช้าง…พืชชนิดใหม่ของโลก” พร้อมส่งเสริมปลูกเป็นไม้ประดับ อนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน

จันทร์ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๓๓
กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดตัว “จำปีช้าง…พืชชนิดใหม่ของโลก” ระบุพบวิธีขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด ช่วยพ้นสภาพหายากและใกล้สูญพันธ์ พร้อมส่งเสริมปลูกเป็นไม้ประดับ อนุรักษ์อยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการที่ วว. ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อปี พ.ศ 2541 คณะนักวิจัยของ วว. นำโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และทีมงาน ได้ออกสำรวจในบริเวณพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบ “จำปีช้าง” ซึ่งมีลักษณะเดียวกับตัวอย่างแห้งของพรรณไม้วงศ์จำปาที่เก็บไว้ในหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เก็บโดย ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ซึ่งจำแนกชื่อว่า Michelia tignifera ทั้งนี้จากการส่งตัวอย่างแห้งที่ครบสมบูรณ์หมดทุกส่วนอย่างละเอียดไปตรวจสอบที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหอพรรณไม้ประเทศจีน พบว่า จำปีช้าง ที่ขึ้นในประเทศไทยมีสถานะเป็นจำปีชนิดใหม่ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ BLUMEA ของหอพรรณไม้ไลเดน แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550
“…จากการศึกษาสถานภาพการกระจายพันธุ์ของจำปีช้าง พบว่า อยู่ในสภาพหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวมีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาที่มีระดับสูงมากกว่า 1,200 เมตร บนยอดดอยในจังหวัดเชียงใหม่ เลย และน่าน มีต้นแม่พันธุ์เหลืออยู่รวมกันเพียงไม่กี่ต้น รวมทั้งไม่มีไม่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ขณะนี้ วว.ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ “จำปีช้าง” โดยใช้วิธีทาบกิ่งที่ใช้จำปาเป็นต้นตอ ซึ่งต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบ ทั้งนี้ วว. พร้อมส่งเสริมให้มีปลูกเลี้ยงจำปีช้างเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ นับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้จำปีช้างพ้นจากสถานภาพหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ในถิ่นกำเนิด ทั้งยังช่วยอนุรักษ์พรรณไม้ดังกล่าวให้อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน …”ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จำปีช้างมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-35 เมตร เปลือกลำต้นหนาและมีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรีจนถึงเกือบกลม แผ่นใบหนาและเหนียว กว้าง 12-18 เซนติเมตร ยาว 20-25 เซนติเมตร ไม่มีรอยแผลบนก้านใบ ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกมี 9-12 กลีบ ผลกลุ่ม มีผลย่อย 2-8 ผล ผลกลมรียาว 5-7.5 เซนติเมตร เปลือกผลหนามาก จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ลักษณะเด่นของจำปีช้างที่สังเกตได้ง่าย คือ มีใบรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนาคล้ายใบสะท้อน มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจำปีจำปา และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงมีกลิ่นคล้ายตะไคร้แต่รุนแรงมาก
“..แม้ว่าขณะนี้ต้นกล้าทาบกิ่งของจำปีช้างที่ปลูกกันอยู่ในพื้นราบจะยังไม่ออกดอก ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของจำปีช้างในถิ่นกำเนิดเดิมที่ออกดอกบานในเดือนเมษายน โดยจำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นด้วยความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวมาก่อน ในขณะที่ในพื้นราบมีสภาพอากาศที่ไม่หนาวเย็นเพียงพอ จำปีช้างจึงไม่ยอมออกดอก ในอนาคต วว. จะหาวิธีการชักนำให้ออกดอกต่อไป รวมทั้งการนำแต่ละส่วนของจำปีช้างมาพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเกษตร เภสัช หรือในผลิตภัณฑ์ของอาหารต่อไป...” ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version