เชฟรอนทุ่มทุนกว่า 300 ล้านบาท ลงนามบันทึกความร่วมมือกับจุฬาฯ จัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม

อังคาร ๒๕ มีนาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๑๓
กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--เชฟรอน ประเทศไทย
เชฟรอนนำประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ University Partnership Program โครงการระดับโลกมุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านธรณีศาสตร์ของภูมิภาค
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ และความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมของภูมิภาค โดยเชฟรอนสนับสนุนงบประมาณในวงเงินสูงสุดเป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งรวมถึงจัดหาบุคลากรผู้สอนจากต่างประเทศ ให้ทุนการศึกษา ความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีอันทันสมัยด้านธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หวังผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญ และเพื่อรองรับความต้องการบุคลากรของประเทศไทยและภูมิภาคด้านการสำรวจปิโตรเลียมให้มีความรู้ในเชิงลึกในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มเปิดภาคการศึกษาแรกในปี พ.ศ. 2552
นายธารา ธีรธนากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงานอย่างครบวงจร ในประเทศไทยเราเป็นผู้นำด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และนอกเหนือจากบทบาทของการเป็นผู้จัดหาพลังงานหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว เชฟรอนยังตระหนักและดำเนินนโยบายทางกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น เชฟรอนเล็งเห็นถึงความสำคัญว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เราจึงให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาในหลากหลายโครงการแก่ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด”
“การพัฒนาหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในภูมิภาค จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออนาคตด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศและภูมิภาค เป็นการสร้างบุคลากรเพื่อทดแทนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอกประเทศอีกด้วย” นายธารา กล่าวเพิ่มเติม
โครงการนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า University Partnership Program เป็นโครงการระดับโลกที่เชฟรอนจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีบันดังในประเทศอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสหรือเอ็มไอที มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการที่จะร่วมกันพัฒนาการศึกษาทั้งในแง่ของหลักสูตร การสนับสนุนด้านบุคลากรและทุนการศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีต่างๆ โดยการคัดเลือกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการนั้น จะมองหาสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ แนวคิดที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการศึกษาในเชิงลึกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโครงการว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติที่ได้รับคัดเลือกจากเชฟรอน ให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำการเปิดหลักสูตรโดยได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการดำเนินการโครงการในระยะแรกเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ไปจนถึง พ.ศ. 2557 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเอกชนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากสภาวการณ์พลังงานของโลกและของประเทศในปัจจุบัน การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตบัณฑิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมจะมีส่วนช่วยในการสำรวจและวางแผนก่อน ระหว่าง และหลังงานการสำรวจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
โครงการความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานในพิธีลงนาม กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับเป็นนิมิตหมายอันดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นการจับมือกันของหน่วยงานภาคเอกชน คือ บริษัทเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก และสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังกันในการร่วมมือจัดตั้งหลักสูตรมหาบัณฑิตธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญทางธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในด้านการสำรวจหาแหล่งพลังงาน ซึ่งนับเป็นการสนองต่อนโยบายพลังงานของรัฐที่เน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศให้มากที่สุด”
“โครงการดังกล่าวยังถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในวงการศึกษาของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาหลักสูตรนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยรวมทั้งในระดับภูมิภาค ซึ่งการที่บุคลากรของไทยได้ทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ อันจะช่วยส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มพูนประสบการณ์ของคณาจารย์ในภาคธรณีศาสตร์ปิโตรเลียมนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานี้ของประเทศไทยต่อไปในระยะยาว” นายไกรฤทธิ์กล่าวในตอนท้าย
เกี่ยวกับเชฟรอน ประเทศไทย
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 45 ปี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ มีผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านความปลอดภัย และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับมาตรฐานสากล ปัจจุบันเชฟรอนมีแท่นผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 195 แท่นในอ่าวไทย โดยในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาเชฟรอนมียอดการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวโดยเฉลี่ยประมาณ 138,000 บาร์เรลต่อวัน (สุทธิ 71,000 บาร์เรลต่อวัน) และสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (สุทธิ 916 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของคนไทย
ท่านสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับเชฟรอนเพิ่มเติมได้ที่ www.chevron.com หรือ www.chevronthailand.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version