กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กทม.
มท.3 ตรวจเยี่ยม และรับฟังบรรยายสรุปภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมมอบนโยบายแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปภ. ในวันพุธที่ 26 มีนาคม 2551 ณ ห้องประชุม 352 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสิทธิชัย โควสุรัตน์) มีกำหนดตรวจเยี่ยมและพบปะข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับฟังบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ปภ. ในวันพุธที่ 26 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 352 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมบรรยายสรุปภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภารกิจเร่งด่วนสำคัญ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 45 จังหวัด และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ 65 จังหวัด การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การเตรียมความพร้อมในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2551 และในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมุ่งเน้นการบูรณาการความมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้แก่ การบริหารจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) การฝึกอบรมอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) โดยในปี 2551 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดแผนการดำเนินงานการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งด้านการเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบ ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทด้าน สาธารณภัยต่างๆ การจัดทำมาตรการความปลอดภัย รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนป้องกันและสาธารณภัยทุกระดับ ด้านการเตรียมพร้อมรับภัย ได้แก่ การฝึกอบรม การจัดทำคู่มือประชาชน คู่มือชุมชน การติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย การจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ การพัฒนามาตรฐานชุดเครื่องจักรกลสาธารณภัย ด้านการจัดการภัยในภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ การจัดตั้งชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ระดับกรม และศูนย์ ปภ.เขต และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) ระดับตำบล ด้านการจัดการหลังเกิดภัย ได้แก่ การประสานการช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง การฟื้นฟู และการแจกจ่ายถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน คือ การสร้างความปลอดภัย ทั้งในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยประชาชนมีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น มุ่งเน้นให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง อีกทั้งเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการสาธารณภัยระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ต่อไป