กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ชี้พบการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดี สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดบวม วอนพ่อแม่ ผู้ปกครองระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กลุ่มเสี่ยงอันดับ 1 อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นพิการ และเสียชีวิต
นพ.วิชัย โกสลาทิพย์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวในงานเสวนา “เสริมภูมิคุ้มกัน...ป้องกันโรคปอดบวม” ณ ห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ว่า เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเป็นวายร้ายตัวฉกรรจ์ของเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวม และโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ รวมถึงกลุ่มโรคติดเชื้อไอ พี ดี เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งในระยะหลังพบว่าเชื้อมีอัตราการดื้อยาสูง ทำให้รักษาได้ยากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ระยะหลังพบการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวสูงขึ้น อีกทั้งช่วงนี้แถบภาคเหนือตอนล่างมีอากาศแปรปรวนบ่อย ทำให้เด็กเล็กมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก กว่าปีละ 2 ล้านคน
“ขึ้นชื่อว่าโรคปอดบวมก็น่ากลัวอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเชื้อนี้จะเข้าไปทำลายเนื้อปอดทำให้ปอดทำงานผิดปกติ และปอดหยุดการทำงานในที่สุด จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมา ซึ่งเด็กอาจจะเสียชีวิตภายในเวลาอันสั้น” นพ.วิชัย กล่าว
เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ และคอหอยของคนเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอ ทำให้เยื่อบุดังกล่าวโดนทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ซึ่งหากเข้าสู่ปอดก็จะทำให้เป็นโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ และอาจจะร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง (ไอ พี ดี) ซึ่งประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โดยอาการในเบื้องต้น จะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา คือมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ นอกจากนี้เด็กที่เป็นไข้หวัดเรื้อรัง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบ หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอ พี ดี) ได้เช่นกัน
กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานที่แข็งแรงพอ และเมื่อเด็กมีเสมหะก็ยังไม่สามารถจัดการกับเสมหะของตัวเอง หรือสั่งน้ำมูกได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย แนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของลูกอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญให้พ่อแม่พาลูกมาหาแพทย์ตั้งแต่วันแรกที่ลูกมีอาการผิดปกติ ก็จะทำให้อัตราเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเสียชีวิตหรือพิการลดลง
“ถึงแม้ว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส จะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็มีวิธีป้องกันในเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ได้แก่ ให้ทารกกินนมแม่ เพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ฝึกให้ลูกน้อยล้างมือเป็นกิจวัตร การสร้างสุขอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นในบ้าน บริโภคอาหารที่สุกสะอาด ไม่ค้างมื้อ รวมทั้งหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และในปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีสำหรับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส รวมทั้งโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หรือกลุ่มโรคไอพีดี (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด)” กุมารแพทย์ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ กล่าว
“สำหรับการฉีดวัคซีนไอพีดีขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนไอพีดีเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ฉีดให้กับเด็กทุกคน ดังนั้นพ่อแม่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนให้ลูกน้อย ซึ่งการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การฉีดให้กับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องนำไปฝากไว้ที่เนอสเซอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้าย
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา (บุษ), พิธิมา (ก้อย)
บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138