กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ปส.
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเวทีประลองปัญญาค้นหาวิศวกรนิวเคลียร์รุ่นเยาว์ หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่เรียนรู้ศาสตร์ด้านนิวเคลียร์อย่างจริงจัง เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานขั้นสูงในอนาคต
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานนิวเคลียร์ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคิดว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่ในการนำพลังงานปรมาณูมาใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งการดำเนินโครงการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมการรองรับด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางด้านกฎหมาย การกำกับดูแลความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ด้านการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งนี้ประเทศไทย ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนยังเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว และให้ความสนใจน้อยมาก เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์แท้จริงของพลังงานนิวเคลียร์
“การที่จะนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความปลอดภัยนั้น ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ดังนั้นการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งระดมสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งในส่วนของการกำกับดูแลความปลอดภัย และส่วนของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีขั้นสูงจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในอนาคต” นายวุฒิพงศ์ กล่าว
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกประการหนึ่ง ในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ ของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทางด้านวิทยาศาสตร์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเช่นกันที่ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญ และร่วมมือกันสนับสนุนอย่างจริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นการสร้างฐานรากที่เข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงานให้กับประเทศในอนาคต
ด้าน นายเชาวน์ รอดทองคำ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงจัดกิจกรรม โครงการ แข่งขันและเข้าค่ายวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ หรือ Atom Juniors Camp ครั้งที่ 1 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูให้กับเยาวชนอันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปในอนาคต
กิจกรรมนี้ ผู้ร่วมแข่งขัน อาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งทีมพี่เลี้ยง จะร่วมกันเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง หรือ Work Shop ซึ่งเยาวชนจะได้แสดงฝีมือ ความสามารถ ผ่านชิ้นงานได้อย่างอิสระ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เชื่อว่าเยาวชนจะได้เรียนรู้พื้นฐานทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ทฤษฎีปฏิกรณ์เบื้องต้น จลศาสตร์ปฏิกรณ์เบื้องต้น จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งยังได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบันและรู้จักการทำงานเป็นทีมอีกด้วย
โครงการดังกล่าว เปิดรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) จากโรงเรียนในกรุงเทพและเขตปริมณฑล โดยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ทีมละไม่เกิน 3 คน ต่ออาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน 30 ทีม จะได้รับค่าอุปกรณ์โครงงานทีมละ 3,000 บาท และจะได้ไปเข้าค่าย work shop ต่างจังหวัด ทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัลดังนี้
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท
ขณะนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วเป็นจำนวนมาก และยังเปิดโอกาสสำหรับเยาวชนที่สนใจอยากเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ขอรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 16 ถนนวิภาวดี แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.02-561-4071 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ ww.atomjuniorscamp.com
รายละเอียดเพิ่มเติม :
เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) โทร.089-448-9582
- ม.ค. ๒๕๖๘ วว. ร่วมงานสัมมนา Spain-Thailand Innovation and Tech Dialogue Platform 2023
- ม.ค. ๒๕๖๘ วว. ได้รับรางวัลเชิงธุรกิจและเชิงสังคม ประจำปี 2566 ร่วมขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
- ม.ค. ๒๕๖๘ วว. ต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน ด้านระบบราง