กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีวิศะฯ จุฬาฯ คนใหม่ คึก เตรียมดันมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิจัย หลังพบศักยภาพของอาจารย์เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับชาติ พร้อมผลักดันสู่การยอมรับระดับสากล หวังเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในญี่ปุ่นและสิงคโปร์
รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะวิศวฯ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ตนเองมองเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะผลงานการวิจัย ที่ได้รับการยอมรับในประดับประเทศ แต่กลับไม่มีการนำผลงานดังกล่าว ไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ดังนั้นตนเองจึงมีแนวคิดที่จะนำผลงานวิจัยใหม่ๆ ออกสู่สายตาคนทั่วโลกมากขึ้น
“การที่จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศนั้น เราจะต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ เพราะการจะทำวิจัยสักเรื่องหนึ่งนั้น ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องหาเงินทุน เพื่อนำมาสนับสนุนงานวิจัยของคณาอาจารย์ ให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น และใช้สำหรับการแปลผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำออกไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ”
รศ.ดร.บุญสม ยังระบุว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนเป็นแกนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ของประเทศ เพราะการวิจัยในขั้นต้น จะนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน อีกทั้งผลงานวิจัยทางวิชาการ ยังเป็นประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป และหากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติมากขึ้น ก็จะเป็นการการันตีศักยภาพของบุคลากร และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลงานการวิจัยเพื่อให้ประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
“การสร้างมาตรฐานของหลักสูตรให้เทียบเท่าระดับสากลนั้น จำเป็นต้องอ้างอิงกับกระแสความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การตอบโจทย์ของการพัฒนาศักยภาพวิศวกรในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งกรณีนิสิตต่างชาติที่เข้ามาเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเป็นดัชนีชี้วัดของการเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง เพราะนิสิตต่างชาติที่เข้ามาเรียนเหล่านี้ จะเป็นกระบอกเสียงอีกทาง ที่จะทำให้ต่างประเทศ รู้จักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น และจะนำไปสู่ความเป็นเลิศในเอเชีย เทียบเท่ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น และสิงคโปร์”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.บุญสม กล่าวว่า การผลักดันการก้าวสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิจัย และการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นงานที่ท้าทาย แต่เชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ และที่ผ่านมา ความแข็งแกร่งของสมาคมศิษย์เก่าที่มีอยู่ทุกวงการ และหลากหลายระดับ จะช่วยให้แนวคิดดังกล่าว บรรลุผลสำเร็จอย่างแน่นอน รศ.ดร.บุญสม กล่าวอย่างมั่นใจ.
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337
ฐปณี จันทคัด(จุ๊) 081-534-832
ภัทรวดี ใจผ่อง(เอ) 08 — 5239 - 8400, 08 — 6334 — 1894