กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--พีอาร์พีเดีย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัย 45 ปี ประกาศวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจและแหล่งความรู้ชั้นสูงในเอเชีย วางรากฐานลงทุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกว่า 480ล้านบาท เตรียมใช้ระบบอินเตอร์แอคทีฟ อี-คลาสรูม (Interactive E-Classroom) ประเดิมแจกโน้ตบุ๊คแก่นักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรี ภาคการศึกษาปี 2551 พร้อมใช้กับไว-ไฟ (Wi-fi) สมาร์ทการ์ด และโอพินเนียน ไฟนด์เดอร์ (Opinion Finder) อุปกรณ์ไฮเทคสร้างปฏิสัมพันธ์วัดผลการสอน และเปิดหลักสูตรเอ็มบีเอ ออนไลน์ พร้อมเดินหน้าแจกทุนศึกษาปริญญาเอกต่างประเทศต่อเนื่องปีละกว่า 10 ทุน พัฒนาอาจารย์หัวกะทิรุ่นใหม่ ส่งเสริมทำงานวิจัยเพื่อใช้ในการสอน และเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก มั่นใจติดอันดับ 500 มหาวิทยาลัยโลกใน 8 ปี
รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2551 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยครบรอบก่อตั้งมหาวิทยาลัย 45 ปี โดยตลอด 45 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนมาโดยตลอด จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยมีทั้งหมด 8 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ปริญญาโท 9 หลักสูตร และหลักสูตรใหม่ ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาโลกาภิวัตน์ศึกษา (Globalization Studies) และปริญญาเอก 2 หลักสูตร คือ ปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ และหลักสูตรใหม่ล่าสุด ปริญญาเอก สาขาวิชาโลจิสติกส์ และหลักสูตรนานาชาติ (International Program) โดยทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีจุดเด่นที่เน้นด้านธุรกิจ เช่น คณะนิติศาสตร์เน้นที่กฎหมายธุรกิจ คณะมนุษย์ศาสตร์มีสาขาวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารธุรกิจ เป็นต้น
ในปี 2551 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ตั้งวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจและแหล่งความรู้ชั้นสูงในเอเชีย โดยใช้กลยุทธ์การพัฒนา 3 ด้าน คือ นวัตกรรมทางการสอนที่ล้ำหน้า การนำความรู้จากงานวิจัยที่ทันสมัยมาใช้ในการสอน และการเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก
ในด้านนวัตกรรมทางการสอนที่ล้ำหน้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เตรียมความพร้อมเพื่อใช้ระบบอินเตอร์แอคทีฟ อี-คลาสรูมมาแล้วกว่า 3 ปี โดยได้ลงทุนกว่า 200 ล้าน บาททั้งในด้านโครงสร้างและอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ล่าสุดนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สมัครเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในปีการศึกษา 2551 จะได้รับโน้ตบุ๊คคนละ 1 เครื่อง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับระบบไว-ไฟที่มีสัญญาณครอบคลุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย
ส่วนอาจารย์ทุกคนจะได้รับอุปกรณ์ไอซีทีเพื่อใช้ประกอบการสอน ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ค พรีเซนเตอร์พอยท์เตอร์ อินพุต แพด (Input Pad) หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สามารถเขียนแล้วข้อความปรากฏบนหน้าจอพรีเซนเทชั่น เป็นต้น เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการสอนให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยโดยอาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้พัฒนาอุปกรณ์ประกอบการสอนอัจฉริยะโอพินเนียน ไฟนด์เดอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และใช้ประเมินความเข้าใจในระหว่างเรียน ซึ่งขณะมีเครื่องพร้อมใช้งานแล้วจำนวน 50 เครื่อง และมหาวิทยาลัยจะผลิตจนครบจำนวนนักศึกษาภายใน 5 ปี
“เมื่อเริ่มใช้อินเตอร์แอคทีฟ อี-คลาสรูม ผู้สอนจะนำไฟล์บทเรียนทั้งหมดขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้เข้าไปศึกษาด้วยตนเองล่วงหน้า และนำมาเป็นหัวข้อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในชั้นเรียน เมื่อเข้าชั้นเรียนนักศึกษาจะได้รับอุปกรณ์โอพินเนียน ไฟนด์เดอร์สำหรับเสียบบัตรสมาร์ทการ์ด หรือบัตรประจำตัวนักศึกษาอัจฉริยะ ในระหว่างการสอนเมื่ออาจารย์ถามคำถาม นักศึกษาทั้งชั้นเรียนจะเลือกคำตอบด้วยเครื่องโอพินเนียน ไฟนด์เดอร์ จากนั้นระบบจะทำการประมวลและรายงานผล ทำให้ผู้สอนทราบทันทีว่าหัวข้อนั้นๆ นักศึกษาเข้าใจหรือไม่ โดยข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ในสมาร์ทการ์ด ทำให้ทราบพฤติกรรมและระดับการเรียนรู้ของนักศึกษาแต่ละคน ซึ่งเราเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่าไฮบริด (Hybrid) ” รศ.ดร.จีรเดช กล่าว
“นอกจากอินเตอร์แอคทีฟ อี-คลาสรูม ล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังร่วมมือกับบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเอ็มบีเอ ออนไลน์ หลักสูตรแรกในประเทศไทย โดยเริ่มจากสาขาการจัดการ ซึ่งเป็นสาขาที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ และเป็นสาขาที่ตลาดมีความต้องการสูง ซึ่งจะเริ่มเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มเรียนในเดือนมิถุนายน 2551 รับจำนวนจำกัดเพียง 50 คน โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาความรู้และวิสัยทัศน์ แต่มีภาระหน้าที่รัดตัวและต้องเดินทางต่างประเทศอยู่เป็นประจำทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนชั้นเรียนปรกติได้” รศ.ดร.จีรเดช กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับแนวคิดเรื่องการนำความรู้ที่ทันสมัยมาใช้ในการสอน รศ.ดร.จีรเดช กล่าวว่า “โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สถานการณ์ตลาด การแข่งขัน และกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นนักศึกษาควรได้รับความรู้ที่ทันสมัย มีการพัฒนาตลอดเวลา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงมีแนวคิดในการสร้างบุคลากรอาจารย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ผ่านการทำวิจัยกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก และสามารถนำความรู้จากการเรียนและงานวิจัยจากต่างประเทศมาประยุกต์สอนกับนักศึกษาไทยได้”
“เราเริ่มสร้างบุคคลากรโดยมอบทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทควบเอกและปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศแก่บุคคลทั่วไป โดยกำหนดว่าผู้รับทุนจะต้องมาปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อ และต้องผ่านการประเมินขั้นต้นจากคณะต้นสังกัด และผู้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน ซึ่งปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แล้ว 35 คน และมีผู้กำลังศึกษาอยู่อีก 74 คน และระหว่างดำเนินการ อีก 31 คน ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนทุนมากที่สุดในประเทศ” รศ.ดร.จีรเดช กล่าว
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสไปอบรมระยะสั้นในต่างประเทศให้มากที่สุดและทั่วถึง จึงได้ริเริ่มให้มีโครงการ Global Intensive Faculty Training Program (GIFT Program) ขึ้น ซึ่งเป็นทุนการศึกษาระยะสั้นในต่างประเทศ เพื่อให้โอกาสอาจารย์มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ในสาขาของตน นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกทักษะทางภาษา ตลอดจนการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความรู้จักกับคณาจารย์และผู้บริหารของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการในระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งแต่เปิดโครงการจนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับทุน GIFT ทั้งหมด 151 คน โดยอาจารย์ทั้งหมดได้ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้สัญญาความร่วมมือทางวิชาการ เช่น DePaul University และ Washington State University ประเทศสหรัฐอเมริกา Swinburne University และ RMIT University ประเทศออสเตรเลีย Auckland University และ University of Waikato ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น
ในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในหลายโครงการ เช่น การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกด้านเศรษฐศาสตร์มีนักวิชาการรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์สอนอยู่ถึง 7 คน ก่อตั้งศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัย ชิคาโก-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เชิญนักวิชาการระดับโลกมาบรรยายให้ความรู้ที่มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2550 เช่น ศาสตราจารย์ฟินน์ เออลิง คิดแลนด์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2004 ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ มันเดลล์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1999 และล่าสุด มร.เจมส์ ดี วูลฟ์เฟนสัน อดีตประธานธนาคารโลก ปี 1995-2005 และจะยังคงจัดอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2551 และต่อไปอีกทุกๆ ปี
“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ความเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้าง หลักสูตร คณะอาจารย์ และนักศึกษามาเป็นระยะเวลาหลายปี ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรามั่นใจว่าจะสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจและแหล่งความรู้ชั้นสูงในเอเชียอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากนี้เรายังหวังว่าจะสามารถติดอันดับ 500 มหาวิทยาลัยโลกใน 8 ปีอีกด้วย” รศ.ดร.จีรเดชกล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท พีอาร์พีเดีย จำกัด
ชัยวัฒน์ สิมะวัฒนา / จตุพล นาคนิ่ม / พชรวดี จุโลทัย
มือถือ: 089 811 7937 / 081 689 8245 / 085 055 1473
โทรศัพท์: 02 439 3837
อีเมล์:
กองประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โทรศัพท์: 02 697 6783
โทรสาร:02 697 6786
อีเมล์:
www.utcc.ac.th