กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.จัดติวเข้มแผนฟื้นฟูเกษตรกรโครงการพักหนี้ตลอดปี เน้นหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แจงเงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท และประสบปัญหาด้านหนี้สินอันเนื่องจากเหตุสุจริตและจำเป็น เผยหลังการกลั่นกรองมีเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการ 340,395 ราย จำนวนหนี้ 18,076 ล้านบาท
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่เกษตรกรรายย่อยและยากจน มีปัญหาด้านหนี้สินอันสืบเนื่องมาจากประสบปัจจัยเสี่ยงด้านการผลิต เช่น ภัยธรรมชาติ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจนก่อให้เกิดภาระหนักด้านหนี้สินและเป็นต้นเหตุของปัญหาความยากจน รัฐบาลจึงได้มีนโยบายที่จะฟื้นฟูและพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนดังกล่าวผ่านระบบ ธ.ก.ส.เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100,000 บาท ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2551 และประสบปัญหาด้านหนี้สินอันเนื่องมาจากเหตุสุจริตและจำเป็น รวมทั้ง ไม่เป็นหนี้ที่เกิดจากการจงใจบิดพลิ้วเกเร ทั้งนี้จะมีเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้งสิ้น 340,395 ราย จำนวนหนี้ 18,076 ล้านบาท
นายธีรพงษ์กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นไปอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ กลับมามีหนี้สินที่เป็นภาระหนักอีก ธ.ก.ส.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนตำบล ชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านจัดทำแผนฟื้นฟูร่วมกับเกษตรกร โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟูขั้นที่ 1 คือ การปรับวิถีชีวิตเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการดำรงชีวิต มีองค์ความรู้เพียงพอในการประกอบอาชีพ การฟื้นฟูขั้นที่ 2 ได้แก่ การหาแนวทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิตในอาชีพหลัก การฟื้นฟูขั้นที่ 3 ได้แก่ การทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยจะมีการติดตามและประเมินผลโครงการตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อทราบพัฒนาการของเกษตรกรแต่ละราย
สำหรับแผนการดำเนินงานในโครงการพักหนี้ครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 (1 เมษายน 2551 — 30 กันยายน 2551) จัดทำข้อมูลเกษตรกรลูกค้า การประเมินศักยภาพของครัวเรือน การคัดกรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการพักหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร ระยะที่ 2 (1 กรกฏาคม 2551 — 31 มีนาคม 2552) พัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการชุมชนและการพัฒนาความรู้ของเกษตรกรโดยปรับทัศนคติ การดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 (1 กรกฏาคม 2551 — 31 มีนาคม 2553) ฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพทั้งในและนอกภาคการเกษตร เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรให้มีความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายธีรพงษ์กล่าวอีกว่า โครงการฟื้นฟูและพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและยากจนตามนโยบายรัฐบาล ผ่านระบบธ.ก.ส. ในครั้งนี้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยชดเชยให้กับ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร เป็นเงินปีละ 1,355.7 ล้านบาท รวม 2 ปี เป็นเงิน 2,711 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงานและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวม 2 ปี จำนวน 1,388.8 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว นอกจากเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยและยากจน ในช่วงระยะเวลาพักหนี้แล้วเกษตรกร ยังสามารถใช้โอกาสนี้ทำการปรับปรุงการผลิตการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวของเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากนั้น นายธีรพงษ์เปิดเผยว่า ในรอบปีบัญชี 2551 ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2552 ธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าหมายการสนับสนุนสินเชื่อไว้ทั้งสิ้น 325,000 ล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อการเกษตร 216,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบท 32,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 55,000 ล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร 22,000 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของสินเชื่อแต่ละประเภทดังกล่าว นายธีรพงษ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสินเชื่อเกษตร 216,000 ล้านบาทนั้น แยกเป็น สินเชื่อด้านเกษตรกรรายคน 180,000 ล้านบาท และสินเชื่อด้านสถาบันเกษตรกร 36,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อด้านเกษตรกรรายคน 216,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สินเชื่อเพื่อการผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก 104,500 ล้านบาท แยกย่อยเป็นสินเชื่อเพื่อการผลิตข้าว 67,100 ล้านบาท ยางพารา 12,000 ล้านบาท ข้าวโพด 9,500 ล้านบาท พืชอื่น ๆ 15,900 ล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อการผลิตพืชพลังงานทดแทน 27,000 ล้านบาท แยกย่อยเป็น สินเชื่อเพื่อการผลิตอ้อย 13,200 ล้านบาท มันสำปะหลัง 11,400 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 2,400 ล้านบาท 3.สินเชื่อเพื่อการผลิตปศุสัตว์และประมง 44,000 ล้านบาท และ 4. สินเชื่อเพื่อการผลิตอื่น ๆ เช่น อาหารปลอดภัย 4,500 ล้านบาท
ในส่วนของสินเชื่อสนับสนุนการสร้างงานในชนบท 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 28,500 ล้านบาท สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 3,000 ล้านบาท และสินเชื่อท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 500 ล้านบาท
ในส่วนของสินเชื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อสหกรณ์นอกภาคการเกษตร / อปท. / วิสาหกิจชุมชน 9,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทุนหมู่บ้าน 16,000 ล้านบาท และสินเชื่อสนับสนุนสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อโอนให้กองทุนหมู่บ้าน 30,000 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อเพื่อการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร 22,000 ล้านบาท นั้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการรับจำนำข้าวเปลือกและบางส่วนเป็นสินเชื่อเพื่อการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
- พ.ย. ๓๒๖๗ ธ.ก.ส. เปิดโครงการเงินฝากแสนสุข
- พ.ย. ๒๕๖๗ ธ.ก.ส.หนุนสินเชื่อพลังงานทดแทน
- พ.ย. ๔๕๑๒ ภาพข่าว: ธ.ก.ส.ดีเด่น