กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กทม.
กทม. รณรงค์ลดโลกร้อนอย่างต่อเนื่องทุกวันที่ 9 ของเดือน 9 เมษา จัดกิจกรรม “น้ำ คือ ชีวิต” ปลุกจิตสำนึกคนกรุงร่วมกันอนุรักษ์น้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรม “น้ำ คือ ชีวิต” ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร ทุกวันที่ 9 ของเดือน เพื่อปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรน้ำสู่ ประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้ง เพื่อเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการประปานครหลวง, กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักการระบายน้ำ เข้าร่วมกิจกรรม และจัดนิทรรศการ "น้ำ คือ ชีวิต" ขึ้น ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ และการเสวนา เรื่อง "สายน้ำ สายชีวิต พิชิตโลกร้อน" จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก กรมทรัพยากรน้ำ, การประปานครหลวง, คุณภัทรพิมพ์ เศรษฐบุตร คอลัมน์นิสต์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และซาร่า นลินธารา โฮเลอร์ กับ ต้า สักธทัศน์ กุลไพศาล ศิลปิน Academy Fantasia (AF)
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การเดินทาง การขนส่ง การบริโภค การสร้างที่อยู่อาศัย หรือการซื้อของ ล้วนมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แม้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจะมีหลายด้าน แต่ด้านที่เราให้ความสำคัญในขณะนี้คือ น้ำ
"น้ำ" เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิต ซึ่งทุกคนควรมีจิตสำนึกและตระหนักตั้งแต่วันนี้ว่า ทรัพยากรน้ำที่ทุกคนคิดกันว่าไม่มีวันจะหมดไปนั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต กำลังจะขาดแคลน จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราทุกคนต้องเริ่มต้นอนุรักษ์และรักษาน้ำที่มีอยู่เสียแต่วันนี้ ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ใช้อย่างประหยัด รู้จักการหมุนเวียนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ เช่น น้ำที่เหลือจากการซักล้าง นำมารดน้ำต้นไม้ นอกจากเป็นการไม่ทิ้งน้ำให้เปล่าประโยชน์แล้ว ยังเป็นการประหยัดเงินค่าน้ำด้วย ส่วนปัญหาน้ำเสียในกรุงเทพฯ นั้น ไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป โดยบ้านเรือนต้องไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ หากปล่อยน้ำทิ้งควรปล่อยลงท่อระบายน้ำ ไม่ควรปล่อยลงคลองโดยตรง ในส่วนของเจ้าของสถานประกอบการขอความร่วมมือในการรวบรวมน้ำเสียบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย ไม่ทิ้งลงคลองโดยตรง มาร่วมมือร่วมใจช่วยกันรักษาน้ำให้คงอยู่กับเราตลอดไปอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกท่านสามารถดำเนินการได้ โดยเริ่มจากที่บ้านของท่าน เริ่มจากการใช้น้ำในชีวิตประจำวันอย่างรู้คุณค่าตั้งแต่วันนี้