กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กทม.
ประชุมสภาสมัยที่ 2 ครั้งที่ 2 กทม. ชี้แจงเร่งควบคุมและปรับปรุงผู้ได้รับสิทธิ์ตั้งป้ายโฆษณาให้ถูกต้อง พร้อมเตรียมหามาตรการเก็บภาษีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น สภากทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการบริหารวิทยาลัยแพทย์กทม.
นายธวัชชัย ปิยนนทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 2) ประจำปี 51 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทมหานคร ศาลาว่าการกทม.
นายพิรกร วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการตรวจสอบและการดำเนินการกับอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549
เนื่องจากขณะนี้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่จำนวนมากในบริเวณที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นการบดบังทัศนียภาพและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงเห็นสมควรเร่งรัดการตรวจสอบป้ายโฆษณาดังกล่าวว่าเป็นอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ และหากได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไปแล้วก็ขอให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีการรื้อถอนโดยเร็ว
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้สิทธิ์เอกชนดำเนินการป้ายสาธารณะ ซึ่งมีการประชุมหลายครั้งแล้วนั้น พบว่าในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีคู่สัญญาที่ขอติดตั้ง ป้ายโฆษณาจำนวน 22 คู่สัญญา รวมกว่า 8,000 ป้าย แบ่งเป็น 8 กลุ่มป้าย คือ ป้ายปรับปรุงภูมิทัศน์ ป้ายถังขยะ ป้ายในระบบรถไฟฟ้า ป้ายในกลุ่มบริเวณเสาตอม่อ ป้ายในกลุ่มเสาตอม่อสะพาน ป้ายเดี่ยว (ไตรวิชั่น) ป้ายกลุ่มสัญญาแผงค้า และป้ายจราจรอัจฉริยะ ทั้งนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์และดำเนินการถูกต้องเพียง 9 คู่สัญญา และครบอายุสัญญาแล้ว 3 คู่สัญญา อย่างไรก็ตามพบว่าจำนวนป้ายในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากเกินไป ซึ่งจะต้องควบคุมและจัดระเบียบให้ดำเนินการถูกต้องต่อไป นอกจากนี้กรุงเทพมหานครจะได้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
จากนั้น นายอภิชาติ หาลำเจียก สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดินแดง ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการบริหารจัดการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ซึ่งวิทยาลัยดังกล่าวมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตบัณฑิตแพทย์ พัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงการศึกษาทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการให้บริการประชาชนและการบริการทางวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงและเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรม การให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วย การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและป้องกันโรค ส่งเสริมสนับสนุน ค้นคว้าและวิจัยทางการแพทย์ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาการบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะด้านงบประมาณ รวมทั้งการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอในการให้บริการแก่ประชาชน ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการบริหารจัดการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและ วชิรพยาบาล จำนวนทั้งสิ้น 17 ท่าน เพื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินการต่อไป