กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจา FTA อาเซียน-จีน ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ โดยตนจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทั้งฝ่ายไทยและอาเซียน ส่วนจีนมีรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะโดยมีประเด็นการเจรจาต่อเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ณ กรุงปักกิ่ง คือ การเปิดเสรีด้านการลงทุน ซึ่งยังเป็นประเด็นที่คั่งค้าง เนื่องจากจีนไม่ยอมผูกพันการเปิดเสรีด้านการลงทุน โดยอ้างว่าตนไม่มีกฎหมายรองรับและยังไม่เคยเปิดเสรีกับประเทศคู่ค้าใดมาก่อน ในขณะที่อาเซียนต้องการผลักดันการเจรจาเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/39 ที่ฟิลิปปินส์ ใน 3 แนวทาง คือ 1. ให้มีกลไกที่จะหารือเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีนในอนาคต 2. อาเซียนต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีเทียบเท่ากับคู่เจรจา FTA อื่นๆ ของจีน 3. ให้มีองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
ส่วนการเจรจาเรื่อง การจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการระหว่างอาเซียน-จีน ชุดที่สอง ซึ่งประเทศสมาชิกต้องยื่นรายการข้อเรียกร้อง (Request List) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2550 และรายการข้อเสนอ (Offer List) ภายในเดือนมกราคม 2551 นั้น ขณะนี้จีนยื่นข้อเรียกร้องต่ออาเซียน 10 ประเทศแล้วแต่อาเซียนมีเพียง 4 ประเทศที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจีน คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ พม่าและไทย ส่วนรายการข้อเสนอยังไม่มีประเทศใดยื่น คาดว่าทุกประเทศรวมทั้งไทยคงยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อใช้เป็นฐานในการเจรจาซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2551
นอกจากนี้ จะมีการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าและการลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งได้เริ่มทยอยลด/เลิกภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีน สำหรับสินค้ารายการปกติมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 การทบทวนดังกล่าวเพื่อพิจารณาว่าจะมีการเร่งลดภาษีระหว่างกันและมีมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะการเจรจาลด/ยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกันซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ให้มีการแจ้งและตรวจสอบมาตรการซึ่งกันและกัน
“ผู้ประกอบการไทยยังใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนค่อนข้างน้อย เห็นได้จากสถิติปี 2549 ที่สัดส่วนมูลค่าสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิส่งออกไปจีนมีเพียง 12.35% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด ส่วนสินค้านำเข้ามีสัดส่วน 1.76% ของการนำเข้าทั้งหมดจากจีน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบมากขึ้น และคาดว่าผลการทบทวนการเปิดเสรีด้านสินค้ารวมทั้งการเจรจาลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เกิดสิ่งจูงใจแก่ผู้ประกอบการไทยหันมาใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนเพิ่มขึ้น” นายวินิจฉัยกล่าว