เนคเทคเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ดันไทยศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลโลก

จันทร์ ๒๑ เมษายน ๒๐๐๘ ๑๕:๓๘
กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--เนคเทค
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “The 1st International Data Storage Technology Conference 2008 (DST-CON 2008)” ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นับเป็นการประชุมทางด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เพื่อให้สามารถดึงดูดอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสอดรับกับความมุ่งมั่นของประเทศไทย ที่ต้องการคงความเป็นที่ 1 ในอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ระดับโลก โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หน่วยงานภายใต้การดูแลของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ชั้นนำของโลก อาทิ ฟูจิตสึ, ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์, ซีเกท เทคโนโลยี และ เวสเทิร์นดิจิตอล
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในประเทศไทยว่า “มีการดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 20 ปีนับตั้งแต่ปี 2526 โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่สำคัญของโลก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้สามารถดึงดูดผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์สำคัญๆ จากต่างประเทศเกือบทุกรายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ประกอบกับในช่วงปี 2542-2549 ที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนในประเทศไทยขยายตัวอย่างสูงจนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกฮาร์ดิสก์ไดรฟ์อันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบัน มีผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลก 4 บริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่ บริษัทฟูจิตสึ, ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์, ซีเกท เทคโนโลยี และ เวสเทิร์นดิจิตอล ทั้ง 4 บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดโลกรวมกันมากกว่าร้อยละ 85”
ดร.สุจินดา กล่าวว่า “ถึงแม้อุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนในประเทศไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างสูงกับในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน และมาเลเซีย ซึ่งต่างพยายามดึงอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าไปลงทุนในประเทศของตน โดยให้การสนับสนุนทั้งในรูปแบบของการให้ทุนสนับสนุนสำหรับการอบรมและวิจัย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการคงความเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของโลก ไทยจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมแผ่นบันทึกข้อมูล (media) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดกับอุตสาหกรรม และพัฒนาผู้ประกอบการใน “อุตสาหกรรมสนับสนุน”ภายในประเทศให้มีมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวเพื่อลดการนำเข้าชิ้นส่วนและบริการจากต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การออกแบบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต”
“ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกับภาคเอกชน ภาคการศึกษา จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขึ้น ภายได้ความรับผิดชอบของสถาบันฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDDI) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และจัดกิจกรรมที่ช่วยยกระดับความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยกิจกรรมหลักๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วระหว่างปีงบประมาณ 2548 - 2550 อาทิเช่น การให้ทุนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการให้ทุนกับพนักงานในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ต้องการศึกษาต่อปริญญาโท ซึ่งมีหัวข้อวิจัยที่กำหนดร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การฝึกอบรมวิศวกรและช่างเทคนิคก่อนและหลังเข้าสู่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทำโครงการวิจัยและให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้าน Automation และ Material และจัดตั้งเครือข่ายความด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทาง ร่วมกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังได้จัดทำ “โครงการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ระยะเวลา 5 ปี ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ภายใต้งบประมาณ 1,360 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้รับผิดชอบนำโครงการฯ ไปปฏิบัติร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อดึงดูดให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาขยายการลงทุนในประเทศไทยในระดับที่แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขึ้นในประเทศไทยให้ทัดเทียมเท่ากับนานาประเทศเพื่อก้าวไปสู่การเป็นคลัสเตอร์ในระดับชาติและระดับสากลได้ในอนาคต” ดร.สุจินดากล่าว
ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2550 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งยังคงเป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ คาดว่าในปี 2551 นี้ มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยในปี 2550 ที่ผ่านมานั้น สามารถผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้ประมาณ 200 ล้านชิ้น มูลค่าการส่งออก 5 แสนล้านบาท การขยายตัวในการผลิตและการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ของไทยในปี 2550 เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 31.14% อันเนื่องมาจากการขยายตัวในตลาดอุปกรณ์ที่นำฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป (เช่น CE) ในประเทศจีน และภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งคาดว่าในปี 2551 ปริมาณการผลิตยังขยายตัวอยู่ในอัตรา 30% โดยอุตสาหกรรมการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยในปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์”
“ทั้งนี้แม้ว่ากระบวนการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์นั้นจะดำเนินการในประเทศไทย แต่การวิจัยและพัฒนายังมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศของบริษัทแม่ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ดังนั้นปัญหาที่เกิดในกระบวนการผลิตนั้น ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก และเพื่อให้ต้นทุนในการผลิตในประเทศไทยลดลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงการกระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ และคุณภาพแรงงานของประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ที่มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของโลก โดยมอบหมายงานให้ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเข้ามาดูแลให้มีการส่งเสริม และสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ติดตามผลการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถให้มีจำนวนเพียงพอ ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการภายในประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์”
ด้าน ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิสก์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการมอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีในการทำโครงการวิศวกรรมและหรือโครงการวิจัย การสนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม การจัดตั้งห้องปฏิบัติการ และการสนับสนุนทุนการอบรมเทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานพันธมิตรที่เรียกว่า “ศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทาง หรือ Industry/University Cooperative Research Center (I/U CRC)” จำนวน 3 ศูนย์ เพื่อเร่งสนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูงเฉพาะด้านสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ให้เพิ่มมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา 3 แห่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินงาน ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีความก้าวหน้าในด้านการวิจัยและการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา ในปัจจุบัน สถาบันฯ ได้ผลักดันโครงการวิศวกรรมและโครงการวิจัย ทั้งจากนักศึกษา นักวิจัยจากสวทช. และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวนมากกว่า 140 โครงการ ทำให้มีผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ออกมามากมาย
และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความก้าวหน้าของผลงานทางวิชาการดังกล่าว สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงร่วมกับศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านขบวนการผลิตชั้นสูงของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (I/U CRC in HDD Advanced Manufacturing) สำนักงานวิจัยร่วมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลและประยุกต์ (I/U CRC in Data Storage Technology and Applications) และศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านส่วนประกอบของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (I/U CRC in HDD Component) จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “The 1st International Data Storage Technology Conference 2008 (DST-CON 2008)” ขึ้น ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ภายใต้โครงการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และผลงานจากนักวิจัยในเครือข่ายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากทั่วโลก และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยกระดับการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลของประเทศไทยให้อยู่ในระดับนานาชาติ ทั้งยังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านงานวิจัยและความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทยให้แก่นักลงทุนด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจาก บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เวสเทิรนส์ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเลจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด
งานประชุมวิชาการนานาชาติ DST-CON 2008 มีกิจกรรมมากมาย ประกอบด้วย (1) การนำเสนอผลงานวิชาการ โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ได้รับทุนวิจัยจากโครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และจากนักวิจัย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ มีนักวิจัยและนักศึกษาร่วมนำเสนอบทความในงานฯ ทั้งสิ้นจำนวน 54 บทความ โดยหัวข้อผลงานทางวิชาการครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ด้านต่างๆ อาทิ Recording Head Technology, Head Media Interface, Automation Technology, Process Analysis and Improvement, Data Storage Technology and Cleaning Technology (2) การบรรยายพิเศษจากวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ (Keynote Speaker) โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก Professor Roy W. Chantrell, University of York, England (Editor of Journal of Magnetism and Magnetic Materials/IEEE Transaction on Magnetics) มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Media Technology in the Tera Byte Era” (3) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “Patterned nanomagnetic bits and devices” โดย Dr. Bruce D. Terris, 2008 IEEE Distinguished Lecturer และ (4) การออกบูธแสดงสินค้าของกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สวทช.
“จุดประสงค์หลักในงาน DST-CON 2008 ครั้งนี้ก็คือ การนำเสนอผลงานทางวิชาการโดยผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจากโครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และนักวิจัย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลของประเทศไทยในระดับนานาชาติ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นทางด้านงานวิจัยและความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทยให้แก่นักลงทุนทางด้านเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน หรือขยายการลงทุนภายในประเทศไทยเพิ่มขึ้น” ดร.ศักรินทร์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โทร. 02-564-6900 ต่อ 2324-2328, 2345 หรือ E-mail: [email protected] และเว็บไซต์ http://www.nectec.or.th/fic/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
โทร. 02-564-6900 ต่อ 2335 - 41
ทิตยา เชื่อมสุวรรณ (แอ) โทร. 085-150-7790
หรือ ฑิตยา นาคทอง (ตุ๋ม) โทร. 086-310-7287

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version