มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบเข็มเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๑ แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน

พุธ ๒๓ เมษายน ๒๐๐๘ ๑๑:๐๒
กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--ม.ธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบเข็มเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๑ แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ในโอกาสครบ ๗๔ ปี วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในโอกาสครบรอบ ๗๔ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑) มหาวิทยาลัยได้พิจารณามอบ เข็มเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๑ แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน โดยกำหนดจัดพิธีมอบเข็มเกียรติยศ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ นี้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กำหนดให้มีการมอบเข็มเกียรติยศแก่ศิษย์เก่า หรือผู้ที่เคยทำงานให้มหาวิทยาลัย และทำคุณประโยชน์ แก่สังคมเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิษย์เก่า โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ต้องเป็นศิษย์เก่า หรือผู้ที่เคยทำงานให้กับมหาวิทยาลัย ทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก และเป็นผู้มีจริยธรรมอันปรากฏเด่นชัด และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๔ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้พิจารณาให้ ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน เป็นผู้สมควร ได้รับเข็มเกียรติยศ
ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น นักกฎหมายไทยคนแรก ที่สำเร็จการศึกษา กฎหมายระดับปริญญาเอกจากประเทศอิตาลี โดยทุนรัฐบาลไทยตามความต้องการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากสำเร็จ การศึกษาท่านได้กลับมาปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญสูงที่สุด ตำแหน่งหนึ่งในระบบราชการไทย และในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมายของประเทศ ท่านได้จัดตั้ง “สถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน” ขึ้นในหน่วยงาน ภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่ให้การอบรมแก่บุคลากรภาครัฐในด้านกฎหมายมหาชน รวมถึงการผลักดันให้ งานด้านกฎหมายเป็นงานหลักด้านหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในระหว่างที่ท่านเป็นกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ
ด้านการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธาน ศาลปกครองสูงสุดคนแรกและยังคงดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งและวางรากฐานระบบการทำงานของศาล ในหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ การวางระบบบริหารงานบุคคลของตุลาการศาลปกครอง การวางระบบวิธีพิจารณาคดี การวางระบบ บริหารจัดการคดี และระบบสนับสนุนอื่นๆ เพื่อให้ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในงานวิชาการด้านกฎหมายนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ได้มีบทบาทในฐานะเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่มีลูกศิษย์ มากมายในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ธุรกิจ หรือสื่อมวลชน ท่านมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในรูปของตำรา หนังสือ และเอกสารวิจัย รวมไปถึงบทความทางวิชาการที่ทรงคุณค่าออกมาเผยแพร่ต่อแวดวงวิชาการทางนิติศาสตร์และสังคมทั่วไป จำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง “การตีความกฎหมาย” และตำรา “คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย นิติกรรมและสัญญา” ซึ่งเป็นผลงานการเขียนที่ได้รับการยอมรับและได้รับการอ้างอิงจากบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพนักกฎหมายทั่วไป คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษาในทุกระดับอย่างกว้างขวาง รวมทั้งผลงานล่าสุดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการกฎหมายมหาชนอย่างมาก คือ “ประมวลกฎหมายปกครอง” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งตามความต้องการเรียกร้องของสังคม และ จากผลงานวิชาการ ด้านกฎหมายของท่านอันโดดเด่นมีคุณประโยชน์เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมติแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ และมีมติมอบปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ นอกจากนี้ มูลนิธิสัญญา ธรรมศักดิ์ ยังได้คัดเลือกให้ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน เป็นนักกฎหมายดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๙ อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ