กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย ครั้งที่ ๓ แก่เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย ในวันอังคารที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๑ เวลา ๐๘.๓๐ ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติให้กับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน โดยจัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM) ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัยขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยนำทรัพยากรและบุคคลที่มีอยู่ในชุมชนมาประยุกต์ ให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมป้องกันภัยอย่างต่อเนื่อง และเป็นองค์กรชุมชนที่สามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ เป็นการสร้างชุมชนนำร่องประจำกลุ่มจังหวัดใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่เคยเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และโครงการชุมชนปลอดภัย ของ ปภ. เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น จำนวน ๑๘ ชุมชน ในพื้นที่ ๑๘ ศูนย์ฯ เขต และระยะที่ ๒ เป็นการขยายผลไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน ๗๕ จังหวัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย ครั้งที่ ๓ ในระหว่างวันที่ ๒๘ — ๒๙ เมษายน ๒๕๕๑ ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายสุวิทย์ คณีกุล) เป็นประธานการประชุม ซึ่งจะได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและการปฏิบัติงานภาคสนาม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการฯ มีความเข้าใจในหลักการ และมีขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จะมีการคัดเลือกชุมชนนำร่องและประชุมชี้แจงโครงการ การทบทวนแผนการจัดการความเสี่ยงภัยของชุมชนและจัดตั้งศูนย์เตรียมพร้อมป้องกันภัยประจำชุมชน การเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมพร้อมป้องกันภัย การฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและภัยอื่นๆ ของชุมชน และการตรวจสอบรับรองจากองค์กรภายนอกตามหลักเกณฑ์ของการเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย “ กล่าวคือ เป็นชุมชนที่มีระบบข้อมูลและการจัดการความรู้ แผนการจัดการความเสี่ยงภัย มีองค์กรชุมชนและอาสาสมัครเป็นอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ รวมทั้งมีการฝึกซ้อมแผนการเผชิญเหตุและการอพยพประชาชน มีทีมกู้ชีพกู้ภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรเอกชนอื่นสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณ ตลอดจนมีกิจกรรมต่อเนื่องและพัฒนาสมาชิกให้มีขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมป้องกันภัย ซึ่งชุมชนที่ผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จะได้รับการยกย่องให้เป็น “ชุมชนเข้มแข็ง เตรียมพร้อมป้องกันภัย “ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเตรียมพร้อมป้องกันภัย รวมทั้งมีเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภายนอก ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: รณรงค์ขับเคลื่อนเด็กไทยไม่กินหวาน
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: คัดกรองมะเร็งช่องปาก
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ลงนาม MOU ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม