สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์จับมือ 5 ผู้ผลิตวัตถุดิบเร่งรัฐปล่อยราคาอาหารสัตว์เป็นไปตามกลไก

อังคาร ๒๙ เมษายน ๒๐๐๘ ๑๑:๕๕
กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--
วันนี้ (29 เมษายน 2551) สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมการค้ามันสำปะหลัง สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมการค้าพืชไร่ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “โอกาสของวัตถุดิบ...วิกฤติอาหารสัตว์ไทย!”
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำการขอปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ 10-20% ไปยังกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปเกือบ 5 เดือน ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณอนุมัติให้ขึ้นราคาแต่อย่างใด ซึ่งราคาที่ยื่นขอไปนั้น ไม่ได้สะท้อนราคาที่ควรจะเป็น ณ ปัจจุบันแล้ว ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกการจัดเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ ที่สามารถใช้ทดแทนวัตถุดิบหลักได้ เช่น น้ำมันปลา กากถั่วลิสง กากเบียร์ เป็นต้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาเช่นกัน
“ผ่านไปแล้ว 5 เดือน รัฐทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่ขณะนี้เป็นเวลาวิกฤตอย่างมากของผู้ผลิตอาหารสัตว์ ขอให้ภาครัฐเร่งตอบสนองข้อเรียกร้องของสมาคมฯด้วยการพิจารณาปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ เพื่อแก้วิกฤติอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยโดยด่วน ก่อนที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์หลายรายต้องยุติการรับซื้อพืชวัตถุดิบต่างๆและปิดกิจการลง” นายพรศิลป์กล่าวและว่าราคาพืชเกษตรทุกตัวที่เป็นทั้งพืชน้ำมันและเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก แต่ราคาอาหารสัตว์ของไทยกลับไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม โดยปี 2547 เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการอนุมัติให้ขึ้นราคาอาหารสัตว์ ซึ่งสวนทางกับภาวะราคาวัตถุดิบที่มีการปรับราคาสูงขึ้นมาโดยตลอด นับเป็นการฝืนกลไกตลาดอย่างรุนแรง
ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีการปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2546 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี 2551 พบว่า ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 4.94 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2546 เป็น 8.65 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นถึง 75% ในขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดชิคาโกปี 2551 สูงขึ้นกว่าปี 2546 ถึง 120% สำหรับราคากากถั่วเหลืองไทยเพิ่มขึ้นจาก11 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.16 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงขึ้นกว่า 55% เช่นเดียวกับราคากากถั่วเหลืองในตลาดสหรัฐฯที่ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 เกือบ 80% ส่วนราคาถั่วเหลืองเม็ดในตลาดสหรัฐฯในปี 2551 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2546 ด้านแป้งข้าวสาลีจากราคา 15.87 บาทต่อกิโลกรัมสูงขึ้นเป็น 22 บาทต่อกิโลกรัม หรือสูงขึ้น 44% ซึ่งราคาซื้อขายในตลาดชิคาโก สหรัฐฯ กลับสูงขึ้นมาก ถึงกว่า 200% ส่วนมันเส้นไทย รำข้าวไทย ปลายข้าว ปลาป่น มีราคาเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ 5.75, 9.29, 13.13 และ 27.47 บาทต่อ กิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2546 ที่มีราคาอยู่ที่ 3.06, 4.86, 6.0 และ 19..92 บาท ต่อ กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นถึง 88%, 91% 118% และ 38% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีรายการสินค้าบางรายการที่ไม่มีผู้ผลิตในประเทศ หรือบางรายการมีผู้ผลิตในประเทศ แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อาทิ แป้งข้าวสาลี โปรตีนข้าวโพด น้ำมันปลาหรือกากเบียร์ ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้ขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณายกเลิกการจัดเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เหล่านี้ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว โดยรายการวัตถุดิบที่ยังคงมีภาษีนำเข้ามากกว่า 5% ได้แก่ น้ำมันปลา ภาษี 10% ส่วนเปลือกถั่วเหลือง กากเบียร์ ดีดีจี กากถั่วลิสง กากเมล็ดทานตะวัน กากฝ้าย กากปาล์ม กากเนื้อมะพร้าว กากนุ่น ตับปลาหมึกป่น และ เอ็มดีซีพี เสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 9% ส่วนรายการวัตถุดิบที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าที่ 5% ได้แก่ กรีนพี แป้งสาลีสำหรับสัตว์ เมล็ดลูปิน รำข้าวสาลี โปรตีนข้าวโพด (Corn Gluten Meal) กากคาโนลา กากเรปสีด
ด้วยสถานการณ์ด้านราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตประสบปัญหาต้นทุนราคาสูงขึ้นกว่าตันละ 12,000 บาท ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ สมาชิก และผู้ประกอบการอื่นๆ รวมแล้วกว่า 1,000 รายต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิต ซึ่งหากผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถอยู่รอดได้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งระบบ รวมถึงจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้ากว่า 5 ล้านครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกรปลูกข้าวกว่า 4 ล้านครอบครัว มันสำปะหลัง 5 แสนครอบครัว ข้าวโพด 3 แสนครอบครัว และยังรวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อีกกว่า 3 แสนครอบครัวด้วย
ด้าน ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อุปนายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว นายเจน วงศ์บุญสิน นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลัง นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และนายจำรัส พงศ์สาลี นายกสมาคมการค้าพืชไร่ ต่างก็กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า การที่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์สามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก มีผลทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น รวมทั้งจูงใจให้เพาะปลูกพืชต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาพืชวัตถุดิบแพงขึ้น ย่อมมีผลต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่ต้องสงสัย รวมถึงต้นทุนสินค้าโปรตีนที่ใช้อาหารสัตว์ด้วย เช่น เนื้อไก่ เนื้อสุกร นม และไข่
"รัฐบาลควรยอมรับว่า แนวโน้มของราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงมีราคาสูงต่อเนื่องไปอีกนานนับปี จึงสมควรยอมให้มีการปรับราคาสินค้าอาหารสัตว์ตามความเป็นจริง รวมทั้งราคาของเนื้อสัตว์ทุกประเภท เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยง เจ้าของฟาร์ม สามารถอยู่รอดได้ในภาวะปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนไทยและชาวโลกได้อย่างยั่งยืน”นายจำรัส นายกสมาคมการค้าพืชไร่กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม