กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กฟผ.
กฟผ. ชู 39 ปี ฝ่าวิกฤติพลังงาน มุ่งบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า จับมือภาคประชาชนร่วมประหยัดพลังงานกับ 5 มาตรการกระทรวงพลังงาน พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตกับการจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ โดยเน้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมและให้การยอมรับ ย้ำจุดยืนพัฒนาไฟฟ้าควบคู่กับพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดไป
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดแถลงข่าวเนื่องในวันสถาปนา 39 ปี กฟผ. “4 ทศวรรษแห่งการพัฒนา” โดยนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ. ณ ห้องประชุม กฟผ. 2 อาคารประชาสัมพันธ์ สำนักงานกลาง กฟผ. บางกรวย นนทบุรี
นายสมบัติ กล่าวถึงการดำเนินงานของ กฟผ. ว่า ตลอด 39 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้จัดหาพลังงานไฟฟ้ารองรับความต้องการของประชาชนให้เพียงพอ ซึ่งในยุคปัจุบันเมื่อสถานการณ์ด้านพลังงานเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นจากการที่ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้ในการผลิตไฟฟ้าถึง ร้อยละ 66 อ้างอิงราคาน้ำมัน กฟผ. จึงมุ่งแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต ขณะที่ได้ส่งเสริมให้ภาคประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อมๆ กับการบริหารต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เองด้วย
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ส่งเสริมภาคประชาชนให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับมาตรการประหยัดพลังงาน 5 ข้อ จาก 11 มาตรการตามนโยบายกระทรวงพลังงานมาดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ได้แก่ มาตรการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าไฟท์บังคับ มาตรการ STAND BY POWER 1 — WATT รักษ์โลก มาตรการวัด มัสยิด ประหยัดไฟ รวมใจสมานฉันท์ มาตรการโครงการ 555 และ มาตรการแอร์สะอาด เพิ่มเงินบาทให้ครัวเรือน ซึ่งหากทำได้ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ด้วย
ส่วนทางด้านการบริหารต้นทุนของ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้วางแผนลดต้นทุนการผลิต โดยเดินเครื่องแม่เมาะเต็มที่และซ่อมบำรุงให้สั้นที่สุดเพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่เชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ รวมถึงประสานกรมชลประทานในการปล่อยน้ำจากเขื่อนให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อมาช่วยเฉลี่ยลดต้นทุนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. ได้กล่าวถึงทิศทางของอนาคตไฟฟ้าไทย ว่าไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ต้องคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้า ทั้งเรื่องแหล่งผลิต เชื้อเพลิง และเทคโนโลยีใหม่ๆ กฟผ. จึงได้เตรียมแผนการจัดหาและผลิตไฟฟ้าเพื่ออนาคต อาทิ นำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากต่างประเทศ การเตรียมการสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะทำให้การผลิตและจัดหาไฟฟ้า มีความเข้มแข็งและมั่นคงในอนาคต เนื่องจากทำให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายมากขึ้น
นายสมบัติ กล่าวต่อไปว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับยอมรับและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน โดย กฟผ. จะทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการมีโรงไฟฟ้าในชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท โรงไฟฟ้านำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างไร รวมถึงการให้ประชาชนได้รับรู้ถึงนโยบายกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ที่จะทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า สามารถนำเงินจากกองทุนดังกล่าวไปพัฒนาชุมชนได้ตรงความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม กฟผ. จะยังคงสานภารกิจดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนในทุกๆ ด้านต่อไป
สำหรับภารกิจหลักด้านการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ในขณะนี้ได้ดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้ากังหันลมขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ชุด ที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา และโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบอัตโนมัติ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2552 ส่วนโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 6 แห่ง จำนวน 78.7 เมกะวัตต์ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553-2554
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โครงการสำคัญทางด้านสังคมที่ กฟผ. ได้เข้าร่วมในปี 2551 กฟผ. ได้ปล่อยช้าง 3 ตัว ในนาม กฟผ. 1 ตัว และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. 2 ตัว ในโครงการ กฟผ. คืนช้างสู่ป่า เพื่อสนับสนุนในโครงการจัดหาช้าง 81 ตัว ของมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ จัดถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองครบรอบ 80 พรรษาในปี 2551 ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และจัดทำรั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร ระหว่างเทือกเขาลวกขนานกับเทือกเขาพังเหย ในบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี
ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโต การใช้ไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่า 39 ปีที่ผ่านมา กฟผ. จะทำให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างมีความสุข ไม่ตกไม่ดับ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคแย่งชิงแหล่งพลังงาน ทุกประเทศต้องแสวงหาทางเลือกด้านพลังงานของตนเอง ฉะนั้นประเทศไทยต้องเตรียมการล่วงหน้า กฟผ. พร้อมที่จะมุ่งจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อคนไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน เพื่อให้การเดินหน้าสู่อนาคตด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยมั่นคงและประสบความสำเร็จ