กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กทม.
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เพื่อศึกษาการทำน้ำสกัดชีวภาพ และตรวจสภาพคูคลองบริเวณริมคลองลำเกร็ด ในโครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบ โดยมี ดร.แตงอ่อน มั่นใจตน อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)คณะกรรมการฯ ผู้แทนจากสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตคันนายาว ร่วมตรวจ ณ ชุมชนริมคลองลำเกร็ด เขตคันนายาว
นายพลภูมิ กล่าวว่า โครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มีการศึกษาค้นคว้าการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยทำเป็นน้ำสกัดชีวภาพที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน น้ำที่เน่าเสียจะค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ กลิ่นเหม็นลดน้อยลง สิ่งมีชีวิตต่างๆ กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยโครงการดังกล่าวทางคณะกรรมการฯ จะนำไปพัฒนาและผลักดันเป็นนโยบายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายสู่ทั้ง 50 สำนักงานเขต ให้มีคูคลองที่สะอาด สดใส และประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้นต่อไป ซึ่งการทำน้ำสกัดชีวภาพใช้งบประมาณจำนวนน้อยในการดำเนินการ เพราะเป็นการนำเศษผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้งมาใช้หมัก ดังนั้นสำนักงานเขตควรเร่งประสานกับทางตลาด เพื่อนำเศษผัก ผลไม้ต่างๆ มาทำน้ำสกัดชีวภาพ ด้านสถานประกอบการควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้และตรวจสอบการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สถานประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้สภาพคูคลองในกรุงเทพมหานครยังประสบกับปัญหาน้ำเน่าเสียอีกเป็นจำนวนมาก ควรเร่งรณรงค์ให้ความรู้ และปลูกจิตสำนึก เพื่อให้ประชาชนหันมาดูแล ร่วมกันฟื้นฟู และอนุรักษ์สภาพคูคลอง เพื่อให้สภาพน้ำกลับมามีคุณภาพดังเดิมอีกครั้ง
- ๒๔ พ.ย. นิด้า" สร้างปรากฏการณ์บนเวทีวิชาการ 3rd NIC - NIDA Conference, 2024 ขนทัพ 'Keynote Speakers' ระดับ TOP ของโลก ร่วมออกแบบอนาคต เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
- ๒๓ พ.ย. บี.กริม เพาเวอร์ จับมือ "นิด้า" ร่วมกันพัฒนาสังคม องค์กร และบุคลากร ชูแนวคิด "การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี" ต้นแบบการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
- ๒๓ พ.ย. 'นิด้า' จับมือ 'บี.กริม เพาเวอร์' ลงนาม MOU ส่งเสริมการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานที่ยั่งยืน