ธ.ก.ส. ผลักดันผลงานวิจัย สู่การปฏิบัติจริงในชนบท

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๐๘ ๑๑:๒๔
กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส. ร่วมกับ สวก. นำผลงานวิจัยไปพัฒนาผลิตผลและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรลูกค้า
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ดร.นภาวรรณ นพรัตน์นราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสู่ระดับชุมชน โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน หลังเสร็จพิธีลงนาม นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า บันทึกข้อตกลงระหว่าง 2 หน่วยงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยการเกษตรให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร เกษตรกรรายย่อย รวมทั้งธุรกิจการเกษตรที่เป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต กระบวนการผลิต เพื่อให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ ตลอดจนให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการทดสอบตลาดผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัย
นอกจากนั้น ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาหัวข้องานวิจัยที่มาจากความต้องการของลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก สวก. โดยหัวข้องานวิจัยดังกล่าวมุ่งช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ธ.ก.ส.เพื่อเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางด้านการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นายธีรพงษ์กล่าวต่ออีกว่า วัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงอีกประการหนึ่งก็คือ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกค้า ธ.ก.ส.ร่วมทดสอบตลาดผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์จากโครงการวิจัยที่ สวก.ให้การสนับสนุน โดย สวก.ยินดีที่จะจำหน่ายให้ในราคาต้นทุนการผลิต รวมทั้ง จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่เป็นเยาวชนที่มีผลการศึกษาดี ความประพฤติดี มาจากครอบครัวเกษตรกรที่มีฐานะยากจนและรักในอาชีพการเกษตร นอกจากนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันให้บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตร ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ทางด้าน ดร.นภาวรรณ นพรัตน์นราภรณ์ ผู้อำนวยการ สวก. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีอายุ 3 ปีนับแต่วันลงนาม ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาและตรงตามความต้องการของเกษตรกรและชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งจะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุตรหลานของเกษตรกร เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปช่วยพัฒนาสังคมและชุมชนต่อไป โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดและคัดเลือกกิจกรรมที่จะดำเนินงานร่วมกันในแต่ละปี โดยคาดว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร การวิจัยและพัฒนาเครื่องอบกล้วยและเครื่องอบพริก การเลี้ยงไก่ไข่เพื่อเป็นอาชีพในระดับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ