ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ แจงนโยบายรับเปิดเทอม 51 สร้างความมั่นใจโรงเรียนคุณภาพกทม.

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๐๘ ๑๒:๓๘
กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (1 พ.ค. 51) เวลา 09.30 น. ณ โรงเรียนวัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน / นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเครือข่ายผู้ปกครองผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ http://live.bmasmartschool.com/livebma/ ไปยังโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 435 โรงเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนกว่า 350,000 คน ได้รับทราบนโยบายการศึกษาปี 2551 จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตรง ถึงการจัดยุทธศาสตร์การศึกษา 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสมดุล และถึงพร้อมทั้งด้านความรู้และคุณธรรม 2. ให้มีสิทธิและโอกาสเสมอกันอย่างไม่มีเงื่อนไขในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และ 3. ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐาน เน้นกระบวนการที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งเป็นการพบปะกับเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่เขตปทุมวันที่มาร่วมรับฟังนโยบายการศึกษาที่โรงเรียนวัดปทุมวนารามอีกกว่า 500 คนด้วย
ต่อเนื่องนโยบายเรียนฟรีไม่มีเงื่อนไข พร้อมเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้เด็กอิ่มและสุขภาพดี
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับปีการศึกษา 2551 กรุงเทพมหานครยังคงดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ ต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2550 พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้นักเรียนทุกคน ทุกโรงเรียน และ ทุกระดับชั้นได้เรียนฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการ อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมส่งเสริมการเรียน ครอบคลุม 20 รายการ ได้แก่ อาหารเสริม (นม) อาหารกลางวัน เครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด พร้อมเครื่องหมายวิชาชีพ รวมทั้งชุดนอน/ชุดอนุบาล/ชุดพละ ประกันอุบัติเหตุ อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เวชภัณฑ์ พาหนะบริการสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องเขียน แบบเรียน แบบฝึกหัด วัสดุการศึกษา วัสดุการเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา คอมพิวเตอร์ หนังสือห้องสมุด หนังสือเสริมการเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และค่าจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ปีการศึกษา 2551 กรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มเติมจากเดิม 10 บาทเป็น 15 บาทตัวคนต่อวัน รวมเป็นเงิน 342,000,000 บาท เพื่อให้จัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน
ขยาย ม.ต้น เด็กมีที่เรียนเพิ่ม 3,500 คน พร้อมส่งเรียน ม.ปลายโรงเรียนคุณภาพ
กรุงเทพมหานคร ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพิ่มเติม อีกทั้งร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษา โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อแก้ปัญหานักเรียนไม่มีที่เรียนต่อ ด้านกระทรวงศึกษาธิการจะขยายการรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวในปีการศึกษา 2551 กรุงเทพมหานครได้เปิดเพิ่มห้องเรียนอีก 42 ห้องเรียนในโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอยู่ 73 โรงเรียน และเพิ่มโรงเรียนให้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอีก 20 โรงเรียน จากเดิมที่มีอยู่ 73 โรงเรียนเป็น 93 โรงเรียน ทำให้ในปีนี้กรุงเทพมหานครสามารถรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้เพิ่มถึง 3,500 คน และเด็กในกรุงเทพมหานครจากทุกเขตพื้นที่มีที่เรียน
นอกจากนี้ ในส่วนของนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จะได้รับสิทธิในการจัดสรรที่นั่งเป็นกรณีพิเศษให้เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามโครงการโรงเรียนคู่พัฒนาคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ โรงเรียนศึกษานารี จัดสรรให้นักเรียนโรงเรียนเศวตฉัตร และโรงเรียนวัดสุทธาราม โรงเรียนละ 5 ที่นั่ง โรงเรียนหอวัง จัดสรรให้นักเรียนโรงเรียเสนานิคม โรงเรียนประชานิเวศน์ 10 ที่นั่ง ซึ่งในปีการศึกษาหน้าจะมีการจัดสรรที่นั่งเป็นกรณีพิเศษให้นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นด้วย
จัดทุนให้ครูเพิ่มพูนความรู้ พร้อมนำเทคนิคใหม่พัฒนานักเรียน
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า ไม่เพียงแต่สนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนเท่านั้น ยังพัฒนาคุณภาพผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนด้านการบริหารจัดการ การจัดกระบวนการเรียนรู้ การนิเทศ การติดตามและประมาณผล โดยจัดสรรงบประมาณ 37.5 ล้านบาทเพื่อพัฒนาบุคลากรครูทั้งหมด 15,000 คน เพื่อให้นำความรู้และเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ มาพัฒนาการเรียนการสอน ที่สำคัญยังได้จัดทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 200 ทุน ซึ่งปี 2550 มีข้าราชการและข้าราชการครูได้รับทุนการศึกษารวม 40 คน ได้แก่ ปริญญาเอก 2 คน ปริญญาโทในประเทศ 36 คน และปริญญาโทต่างประเทศ 2 คน นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาการศึกษาด้านต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากร จำนวน 5 คน ไปฝึกอบรม ณ สหรัฐอเมริกา
พัฒนาโรงเรียนต้นแบบ และนำปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์ใช้ทุกแห่ง
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบคุณภาพมาตรฐาน โดยคัดเลือกโรงเรียน 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน วัดดอนเมือง โรงเรียนวัดเสมียนนารี โรงเรียนเบญจมพิตร โรงเรียนสุโขทัย โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ โรงเรียนพิชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านบางกะปิ โรงเรียนสวัสดีวิทยา โรงเรียนวัดธาตุทอง และโรงเรียนนาหลวง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาทั้งด้านกายภาพภายนอกและคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้ทัดเทียมโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง อาทิ ห้องสมุดและเทคโนโลยีสื่อการเรียนรู้ทันสมัย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์สมบูรณ์แบบ การเสริมสร้างสมรรถนะร่างกาย และการสนับสนุนการศึกษาตามความถนัดของผู้เรียนโดยเน้นการปฏิบัติจริง
ในขณะเดียวกัน ยังขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาเป็นรูปธรรม โดยการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนานักเรียน 3 ช่วงชั้น ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกแห่งในสังกัดเพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักพอเพียง ประหยัด และเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ไม่เพียงเท่านั้นกรุงเทพมหานครยังได้จัดพิมพ์และเผยแพร่ไปยังสถานศึกษาทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย
โรงเรียนกทม. ผ่านประเมินจาก สมศ.มากกว่า 90 %
กรุงเทพมหานคร นำโรงเรียนในสังกัดทุกโรงเรียน เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 2 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ตั้งแต่ปี 2550 ยกเว้นโรงเรียนวัดใหม่ช่องลมที่เพิ่งรับโอนมาจากกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้ารับการประเมินในปีนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อคุณภาพและมาตรฐานในการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการประเมินระดับปฐมวัย ปรากฎว่า ได้รับการรับรอง 407 โรงเรียนจากทั้งหมด 429 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 94.87 ส่วนระดับประถมศึกษา — มัธยมศึกษา ปรากฎว่า ได้รับการรับรอง 399 โรงเรียนจากทั้งหมด 434 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 91.94 สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรอง กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เพื่อให้ผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาภายนอกภายในปี 2551
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ด้านคุณภาพการเรียนการสอนนั้นได้พัฒนาไปพร้อมกัน อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานการเรียนการสอนจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร จะเร่งปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาผ่านการประเมินครบ 100% และจะพัฒนาทุกโรงเรียนในสังกัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยเหมาะแก่การเป็นสถานศึกษาคุณภาพต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version