กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--กทม.
ปปส. กทม. ผนึกกำลังเครือข่าย เดินหน้าป้องกันและบำบัดยาเสพติดต่อเนื่อง จัดงาน “ประชาไทยร่วมใจ ร้อยสายใยบำบัดฟื้นฟู” ส่งมอบผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด 300 คน เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในค่ายทหาร หวังสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองดีสู่สังคม
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส. กทม.) ร่วมงาน “ประชาไทยร่วมใจ ร้อยสายใยบำบัดฟื้นฟู” ณ แดน 9 เรือนจำกลางคลองเปรม เพื่อส่งมอบผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ กับค่ายทหารสังกัดกองทัพบก อันจะเป็นการสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องให้กับผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติด และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งจะช่วยป้องกันการหวนกลับไปติดยาเสพติดซ้ำ โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน
สำหรับพิธีส่งมอบในครั้งนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) ได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และศูนย์วิวัฒน์พลเมืองกองทัพบก โดยส่งมอบผู้เสพ / ผู้ติดยาเสพติด ในการดูแลของ ศตส.กทม. จำนวน 300 คน เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพกับศูนย์วิวัฒน์พลเมืองกองทัพบก 2 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิวัฒน์พลเมืองกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 100 คน และศูนย์วิวัฒน์พลเมืองกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 ค่ายฝึกรบพิเศษแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 200 คน ใช้ระยะเวลาการฝึกฟื้นฟู 4 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม — กันยายน 2551 ซึ่งผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วจะต้องไปรายงานตัวต่อกรมควบคุมความประพฤติ และส่งตัวกลับสู่ชุมชนเพื่อใช้ชีวิตตามปกติ จากนั้นจะต้องเข้ามารายงานตัวที่กรมคุมประพฤติเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งระหว่างที่กลับไปดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนนั้น กรุงเทพมหานคร โดย ศตส.กทม. จะเข้าไปช่วยเหลือด้านอาชีพ เพื่อให้ผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ นอกจากนั้นชุดปฏิบัติการ บูรณาการติดตามผู้ป่วยในชุมชน อาทิ ผู้นำชุมชน พัฒนาชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชน ปปส. กทม. และวิทยากรกระบวนการของทหาร จะลงพื้นที่ติดตามพฤติกรรมผู้ผ่านการฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาติดยาเสพติดซ้ำอีก
ส่วนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในภาพรวมยังอยู่ในระดับรุนแรง โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประมาณการผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 91,658 คน เป็นผู้เสพยาเสพติดจำนวน 82,780 คน ขณะที่การแก้ไขปัญหายังมีอุปสรรค เนื่องจากสถานที่ควบคุมตัวระว่างรอการตรวจพิสูจน์และสถานฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ไม่เพียงพอสำหรับผู้เข้ารับการบำบัดในระบบบังคับบำบัด ทำให้ต้องมีการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะกลับเข้าสู่สังคมชุมชน และเป็นปัญหาต่อไป ขณะที่เป้าหมายการดำเนินการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 กรมคุมประพฤติตั้งเป้าว่าจะมีผู้เสพเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในระบบบังคับ 17,400 คน