กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
"ประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์" เผยมี 3 แนวทางบริหารธุรกิจเพื่อดันผลประกอบการให้ไปถึงฝั่งได้ โดยมีเป้าหมายรายได้ปีนี้แตะ 1,000 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นแตะ 17-18% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.4% ถึงแม้ SPPT จะต้องเผชิญกับปัญหาซับไพร์มและเงินบาทแข็งค่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจยลบกดดันการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปีนี้
นายประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์พาร์ท(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT กล่าวยอมรับว่าในปีนี้ยังมีปัจจัยลบที่คอยกดดันการดำเนินธุรกิจ อาทิ เรื่องซับไพร์มและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งในปี 2550 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2551 ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยับมาเป็น 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งในส่วนของ SPPT ได้ปรับตัวและเตรียมกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมี 3 แนวทางคือ 1.พยายามมองหาธุรกิจที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และเป็นการซื้อขายภายในประเทศ โดยเน้นไปที่การขยายธุรกิจในส่วนของ Non Hard Disk Drive เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจ Hard Disk Drive (HDD) มีอัตราผลตอบแทนลดลง แต่ในส่วนของ Non Hard Disk Drive ยังให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยแผนงานในปี 2551จะเพิ่มยอดขายของ Non Hard Disk ในจำนวนที่สูงขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากที่มีรายได้ประมาณ 90 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 150 ล้านบาท ในปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานของ SPPT ดีขึ้น
2.ในส่วนของอุตสาหกรรม HDD จากการหารือกับลูกค้าของ SPPT ถึงสภาวะตลาด HDD ลูกค้าของ SPPT ประเมินว่าอุตสาหกรรม HDD ยังคงมีการขยายตัวโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่เรียกว่า BRIC ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดียและ จีน และการพัฒนา application ใหม่ๆที่เป็น digital content จะทำให้มีการใช้ HDD มากขึ้นซึ่งจากการประกาศผลประกอบการของผู้ผลิต HDD รายใหญ่ เช่น WD มีการขยายตัวสูงถึง 40% และยังจะขยายการลงทุนในไทยเพิ่มอีกหลายพันล้านบาท ซึ่งจากเหตุผลข้างต้น คงทำให้ SPPT ได้รับผลดีไปด้วยและแนวทางที่ 3 SPPT จะพยายามเน้นให้บริษัท ซิงเกิ้ลพอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด (SPEE) ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัทร้อยละ 49.99 (ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนโดยการจำหน่าย ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ และจำหน่ายสารเร่งปฏิกริยาในการแปรรูปเศษพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ) ให้มีรายได้เข้ามาในปี 2551
"เราลงทุนใน SPEE ปลายปี 2549 และปี 2550 ก็เป็นปีแห่งการลงทุนโดยการประชาสัมพันธ์และการร่วมมือกับภาครัฐ ให้เข้าใจและยอมรับในนวัตกรรมนี้ โดยช่วงที่เริ่มดำเนินการ ราคาน้ำมันดิบแค่ 55-60 เหรียญต่อบาร์เรลในขณะที่ปัจจุบันราคาขยับใกล้ 120 เหรียญ ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจและ ทางกระทรวงพลังงานได้ออกนโยบายสนับสนุนสำหรับพลังงานทางเลือกนี้ โดยให้งบประมาณสนับสนุน 3 โครงการ โดยจะสนับสนุนโครงการละ 35 ล้านบาท และให้เงินอุดหนุนการซื้อขายน้ำมันเพิ่มอีกลิตรละ 6 บาทจากราคาขายน้ำมันดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์จากเครื่องดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 มาตรการจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนมากขึ้น"
เขากล่าวต่อว่าที่ผ่านมา บริษัทได้เซ็นสัญญาจำหน่ายเครื่องแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน 1 เครื่องเป็นโครงการนำร่องพร้อมจัดสร้างอาคารสำหรับติดตั้งเครื่องจักร 1 หลังรวมมูลค่า 42.8 ล้านบาทกับเทศบาลเมืองระยอง และบริษัทได้รับเงินชำระค่ามัดจำเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว กำหนดการติดตั้งเครื่องจักรภายในเดือน พฤษภาคม และคาดว่าจะผลิตน้ำมันเพื่อจำหน่ายได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งคาดว่าหลังจากที่นักลงทุนเห็นความชัดเจนและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าวคือสามารถสร้างผลตอบแทนได้จริงและมีคุณภาพจริง จะทำให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น โดยปี 2551 คาดว่าจะจำหน่ายได้ 3 เครื่องโดยเป็นภาครัฐ 2 เครื่องและภาคเอกชน 1 เครื่อง นอกจากนี้บริษัทยังจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสารเร่งปฎิกิริยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดในสัญญาว่าลูกค้าจะต้องซื้อจากบริษัท
"ล่าสุดเราได้รับคัดเลือกจาก เทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมติดตั้งเครื่องจักรในวงเงิน 58.8 ล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งได้ในไตรมาส 3 นอกจากนั้นเรามีลูกค้าอีก 4-5 รายกำลังอยู่ระหว่างติดต่อเจรจากันอยู่ ซึ่งโดยภาพรวมทำให้มั่นใจว่ายอดขายและผลตอบแทนของ SPPT จะดีกว่าปีที่แล้ว และคาดว่าบริษัทจะบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นายประพจน์กล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณปภาดา สุวรรณกูฎ (ตุ้ย) 02-554-9396 , 085-133-0184