กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สวทช.
สวทช. จับมือ 2 สถาบันของรัฐฯ จัดสัมมนา ‘เทคโนโลยีสะอาด’ แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)
สวทช. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลฯ จัดสัมมนา “สุดยอด...เทคนิคการจัดการสิ่งทอ : เทคโนโลยีสะอาด ทำกำไรได้จริงหรือ?” หวังกระตุ้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย พัฒนา “เทคโนโลยีสะอาด” ลดปัญหาของเสีย และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออกไทยแข่งขันได้ในลาดโลก
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีการจ้างงานในอันดับสูง ตลอดจนก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสนับสนุนตามมา แต่กำลังประสบปัญหาจากการเข้ามาทุบตลาดทั่วทุกๆ ประเทศในโลกของสินค้าราคาถูกจากจีน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าส่งออกในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ปัญหาส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย คือ เรื่องต้นทุนของน้ำ และการกำจัดของเสีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฟอก ย้อม พิมพ์และตกแต่งสำเร็จของไทย ถือเป็นจุดอ่อนที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ดังนั้น เพื่อช่วยแก้ไข พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จัดสัมมนา “สุดยอด...เทคนิคการจัดการสิ่งทอ : เทคโนโลยีสะอาด ทำกำไรได้จริงหรือ?” ภายใต้โครงการการปรับปรุงและเพิ่มผลผลิตในงานฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ขึ้นระหว่างวันที่ 26 — 27 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป หัวหน้างานโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งของประเทศ เพราะในแต่ละปีมีปริมาณส่งออกค่อนข้างสูง แต่ขณะนี้สินค้าในตลาดล่างต้องประสบปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีน ขณะที่สินค้าในตลาดบนของไทยก็ยังไม่สามารถสู้สินค้าจากประเทศเกาหลี และตุรกี ได้ เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีกว่า ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ปัญหาการปรับตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยเองว่า ควรจะปรับตัวไปในทิศทางใดให้เหมาะสม และจุดสำคัญคือนอกจากเรื่องของด้านการตลาดแล้ว ควรจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะเรื่องฟอก ย้อม พิมพ์และตกแต่งสำเร็จของไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอ
“จากการวิเคราะห์ปัญหาฯ พบว่า ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่มักประสบกันมาก คือ ในเรื่องของเครื่องจักร เนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเยอรมัน ทำให้มีเครื่องจักรค่อนข้างหลากหลาย เกิดปัญหาเรื่องการจัดการและอะไหล่ รวมถึงการใช้งานที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศไทยเองยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ที่แท้จริงทางด้านเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตเครื่องจักรขึ้นเองในประเทศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงยังมีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างตุรกี ที่นอกจากจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแล้ว ยังพัฒนาเครื่องจักรขึ้นเองและส่งออกจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอในตลาดโลก ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของสารเคมี และวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต ฟอก ย้อม เนื่องจากมีทั้งนำเข้าและผลิตขึ้นในประเทศ ทำให้มีผลต่อเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ อาจไม่สม่ำเสมอ ปัญหาความเข้าใจถึงคุณสมบัติของแต่ละเฉดสี และเรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติได้มาตรฐานตามที่โรงงานต้องการหรือไม่” นางสาวสนธวรรณ กล่าวและว่า
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี FTA หรือ การขึ้นค่าของเงินสกุลต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้า วัตถุดิบ และการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะกับไทย แต่กระทบกับทุกๆ ประเทศทั่วโลก และต่อไปเมื่อจีนสามารถพัฒนาและผลิตเครื่องจักรได้เองแล้วก็จะสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้ในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องตื่นตัวที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของตนสามารถแข่งขันได้ในอนาคต
สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งใน “โครงการปรับปรุงและเพิ่มผลผลิตในงานฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จของอุตสาหกรรมสิ่งทอ” โดยนอกจากจะมีการจัดกิจกรรมการสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีกิจกรรมการเสาะแสวงหาเทคโนโลยีโดยการพาไปเยี่ยมชมโรงงานที่ประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ จากนั้นยังได้จัดกิจกรรมการวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหาให้กับโรงงานโดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และกิจกรรมสุดท้าย คือการนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ปัญหาให้กับโรงงานเป็นรายแต่ละบริษัท ซึ่งในกิจกรรมที่ 4 นี้ทางโครงการ ITAP ยังได้ให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการถึง 50% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ ไม่เกิน 500,000 บาทต่อโครงการ และผู้ประกอบการยังสามารถทำโครงการได้ถึง 2 โครงการต่อปี ถือเป็นกิจกรรมที่ทางโครงการ ITAP เตรียมไว้สำหรับในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย
ด้าน ผศ.ดร.อภิชาติ สนธิสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า เทคโนโลยีสะอาด เป็นการผลิตที่ทำให้เกิดการลดของเสีย ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ทำให้วัตถุดิบ พลังงาน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีสะอาด ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสะอาด ( Cleaner Production หรือ CP ) จะมุ่งเน้นในการปรับปรุงจากกระบวนการผลิตปกติ และมุ่งเน้นการจัดทำระบบการผลิตที่ดีขึ้น เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
“ เรื่องของเทคโนโลยีสะอาดนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถนำของเสีย หรือ ของเหลือ กลับมาใช้ใหม่ หรือ ใช้ซ้ำ ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ไม่มีของเสียอะไรที่หลุดรอดจากกระบวนการผลิตถือก็ว่าเป็น “เทคโนโลยีสะอาด” อย่างแท้จริงแล้ว แต่ยอมรับว่า ในปัจจุบันเรื่องของเทคโนโลยีสะอาด และการจัดการสิ่งทอในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากนัก อย่างไรก็ตาม การจัดทำเทคโนโลยีสะอาด (CT) ควรพิจารณาทั้งข้อดี — ข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งใดๆ ให้ถ่องแท้ก่อนนำไปใช้จริง ที่สำคัญคือ อย่าทำเพียงแค่ตามกระแสสังคม แต่ควรพิจารณาทำเพื่อให้เกิดผลเป็นที่น่าพอใจที่สุด ไม่ใช่ผลกำไรมากที่สุด หรือ เพื่อให้ลดของเสียได้มากที่สุด แต่เพื่อให้มีเทคโนโลยีสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต ” ผศ.ดร. อภิชาติ กล่าว
ทางด้าน นายไพศาล ตาเส่ง ผู้จัดการโรงงาน Jaspal & Son Co.,Ltd. ผู้ผลิตสิ่งทอภายใต้แบรนด์ “Jaspal” และชุดเครื่องนอน “Santas” ฯลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ยาวนานมากว่า 50 ปี และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีสะอาดเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่า หลังจากที่บริษัทได้นำเทคโนโลยีสะอาดเข้ามาใช้ แล้ว ช่วยทำ “กำไร”ให้กับบริษัทได้จริง ผลิตสินค้าได้คุณภาพ ลดระยะเวลาในการผลิต และสามารถลดต้นทุนลงได้ในอนาคต จากเดิมที่มีต้นทุนอยู่ประมาณ 5,000 บาท เหลือเพียง 500 บาท ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน และนอกจากจะช่วยเน้นย้ำถึงเรื่องคุณภาพและชื่อเสียงความเป็นผู้นำในวงการของบริษัทฯ แต่เมื่อได้นำเทคโนโลยีสะอาดเข้ามาใช้ ยิ่งทำให้สินค้าของบริษัทเหนือกว่าคู่แข่งในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการเป็น “ผู้นำ” อย่างต่อเนื่อง บริษัท จึงไม่อาจหยุดนิ่งที่จะพัฒนาได้ และเรื่องของเทคโนโลยีสะอาดก็ไม่เฉพาะเครื่องจักรเท่านั้น แต่ยังหมายความถึง เทคนิคการจัดการ ที่สำคัญ คือ เรื่องของจิตสำนึกและสามัญสำนึกของบุคลากร.--จบ--
- ๒๓ พ.ย. สสส.ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมสร้างและยกระดับองค์กรสุขภาวะเน้นผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมสุขภาพ
- ๒๓ พ.ย. สศอ. ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ เปิดรับผู้ประกอบการร่วมโครงการพัฒนาวัสดุเชิงเทคนิคด้วยกระบวนการ Upcycle ปี 67
- ๒๔ พ.ย. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มอบรางวัล กิจกรรมการประกวดออกแบบลายกราฟฟิก "เสื้อสงกรานต์ที่ไม่ใช่ลายดอก" SONGKRAN SHIRT DESIGN CONTEST