สภาพัฒน์ ขยายผลเครือข่ายผู้นำแห่งความพอเพียงภาคเหนือ

อังคาร ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๐๘ ๑๒:๐๒
กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สศช.
ดร. สุทิน ลี้ปิยะชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารสมอง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการเสวนา “ผู้นำแห่งความพอเพียงระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 : การขยายผลเครือข่ายผู้นำแห่งความพอเพียง” ณ โรงแรมเชียงใหม่ ออคิด จ.เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2551 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นประธานเปิดการเสวนาพร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เครือข่ายผู้นำแห่งความพอเพียง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมไทยอย่างเข้มแข็ง”
ดร.สุทิน กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำแห่งความพอเพียงในระดับพื้นที่ในการเติมเต็มความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาองค์กรและชุมชน ขยายจำนวนผู้นำแห่งความพอเพียงให้เป็นแกนหลักในการขยายผลสู่องค์กรและชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่ายผู้นำที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในองค์กรและชุมชนอย่างสัมฤทธิ์ผลในระดับภูมิภาค ตลอดจนสร้างเวทีเศรษฐกิจพอเพียงสาธารณะในการขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมไทยอย่างเข้มแข็ง โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้นำองค์กรและชุมชนที่ประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างสัมฤทธิ์ผล ผู้แทนจังหวัด สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน รวมจำนวนประมาณ 100 คน
ดร.สุทิน กล่าวต่อไปว่า สำนักงานฯ ได้อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่ใช้อยู่ขณะนี้ เพราะตระหนักว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในยุคโลกไร้พรมแดน สำนักงานฯ จึงได้เป็นแกนหลักจัดให้มีการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง คือ ผู้นำองค์กรและชุมชนที่มีศักยภาพ ที่จะเป็นผู้มีส่วนในการขับเคลื่อนชุมชนให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ ตามแนวทางแผนพัฒนาฯ 10 ที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมฐานปัญญา และการพัฒนาโดยใช้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งในเรื่องของคุณธรรมและวัฒนธรรม รวมทั้งเน้นอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนจากการเน้นพัฒนาการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม มาเป็นการขยายตัวการให้บริการด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว
ในส่วนของผลจากเวทีเสวนาที่จังหวัดอุดรธานี ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมไทยว่า ในส่วนของภาครัฐ เสนอว่า ผู้นำองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนในภาครัฐ จึงควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำพอเพียง และสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรในระดับจังหวัด สนับสนุนให้เวทีองค์กรการเงินชุมชนเป็นเวทีให้คำปรึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต อาศัยกองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยมีพัฒนาการจังหวัด และ ธ.ก.ส. เป็นผู้สนับสนุนดูแลกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง นอกจากนี้ยังเห็นว่า สศช. และ ธกส. ควรเป็นแม่ข่ายการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมความพอเพียงในด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ภาคเอกชน เสนอว่า ธุรกิจต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวที่พอเพียงก่อน ผู้นำธุรกิจพอเพียงต้องมีจิตอาสาใน 3 คุณลักษณะ ได้แก่ (1) สร้างคุณธรรมให้เกิดก่อน (2) สถานภาพความเป็นอยู่ ต้องพอมีพอกินก่อน (3) คนในครอบครัวมีความพอเพียง การขับเคลื่อนในภาคธุรกิจจะได้ผล ต้องเน้นนำเสนอกรณีการประยุกต์ใช้ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนถอดออกมาเป็นตำราหรือทฤษฎี สำหรับการขับเคลื่อนในระยะต่อไป ควรสนับสนุนการศึกษาและถอดองค์ความรู้การทำวิสาหกิจชุมชน ซึ่งนับเป็นแนวทางการทำธุรกิจพอเพียง ควรมีการจัดการความรู้ ข้อมูล บนพื้นฐานของความพอเพียง
ภาคประชาสังคม เสนอว่า ต้องใช้คุณธรรมนำความพอเพียง ชุมชนที่มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานและเรียนรู้แนวพระราชดำริ จะมีความเข้มแข็งและสามารถบรรลุความพอเพียงได้ การขับเคลื่อนในระยะต่อไปควรเรียนรู้และน้อมนำโครงการเกษตรผสมผสานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ เน้นมีอยู่มีกินก่อน ตั้งกลุ่มเกษตรผสมผสาน และ รู้ รัก สามัคคี ภาคโรงเรียน/สถานศึกษา เสนอว่า ทุกหน่วยงานต้องรณรงค์ให้ช่วยกันฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมของคนไทย การขับเคลื่อนในระยะต่อไป ควรเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่ วิชาการ งบประมาณ บริหารงานทั่วไป บริหารงานบุคคล และควรจัดการศึกษาเฉพาะสำหรับเด็กในเมืองและในชนบท เพราะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน รวมถึงผู้บริหารต้องมีความต่อเนื่อง
ภาคสื่อมวลชน เสนอว่า ควรประชาสัมพันธ์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้มากขึ้น ให้แต่ละภาคส่วนได้เรียนรู้ข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายกันต่อไป โดยการขับเคลื่อนในระยะต่อไปต้องขยายผลโดยเฉพาะเรื่องการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ และประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน ผ่านสื่อในรูปแบบที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง และภาคการเมือง เสนอว่า กลุ่มนักการเมือง ควรยึดหลักองค์ประกอบปรัชญาฯ เป็นแนวทางใช้พิจารณาร่วมกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี 6 หลักการ ได้แก่ หลักนิติธรรม ความโปร่งใส คุณธรรม การมีส่วนร่วม ความคุ้มค่า และหลักความรับผิดชอบ และการพิจารณาโครงการหรือแผนงาน จะต้องดูความสอดคล้องกับปรัชญาฯ
การเสวนาดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค โดยการเสวนาครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมปรินซ์ พลาเลซ ตามลำดับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO