ประชุมรัฐมนตรีเอเปคมุ่งหวังการเจรจารอบโดฮาได้ผลสรุปภายในปีนี้

ศุกร์ ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๑๑
กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ปชส.จร.
มิ่งขวัญเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเหินฟ้าไปประชุม รมต. เอเปคที่เปรูปลายเดือนนี้ เน้นเจรจาการค้าและการลงทุนเป็นหลัก พร้อมหารือบทบาทของเอเปคในการสนับสนุนการเจรจารอบโดฮา หวังได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และการเตรียมการรองรับการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ( APEC MRT) ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2551 ณ ประเทศเปรู โดยมีประเด็นหลักด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญคือการหารือถึงบทบาทของเอเปคในการสนับสนุนการเจรจารอบโดฮา การเตรียมการรองรับการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific — FTAAP) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างภายใน
โดยที่ประชุม MRT จะมีการหารือว่า เอเปคจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างในการผลักดันการเจรจารอบโดฮาให้ได้ผลสรุปภายในปีนี้หลังจากที่มีการเจรจามานานกว่า 6 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า ส่วนที่ว่าจะมีแถลงการณ์แยกเรื่องการเจรจารอบโดฮาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองผลักดันให้การเจรจาบรรลุผลสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าการเจรจาที่เจนีวามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจารอบโดฮาไม่มีความคืบหน้าเพราะมีปัญหาในการเจรจาโดยเฉพาะเรื่องสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึง การค้าบริการ การปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าด้านมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เป็นต้น
สำหรับ การอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นเรื่องที่ไทยจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ โดยขณะนี้เอเปคได้จัดทำ Trade Facilitation Action Plan II (TFAP II) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลด transaction cost ภายในภูมิภาคลงอีก 5% ภายในปี 2010 หลังจากที่ลดไปแล้ว 5% ในปี 2006) โดยมีงานหลักทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ การลดขั้นตอน/กระบวนการด้านพิธีการศุลกากร การปรับประสานมาตรฐานและการรับรองสินค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ขณะที่การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนนั้น เอเปคได้จัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการอำนวยความสะดวกการลงทุน (Investment Facilitation Action Plan : IFAP) ของช่วงปี 2008-2010 เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในภูมิภาค เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และโอกาสการจ้างงาน ซึ่งประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนงานดังกล่าว และสมาชิกจะเสนอแผนงาน IFAP ต่อที่ประชุมครั้งนี้เพื่อให้การรับรองด้วย” รองนายกฯมิ่งขวัญกล่าว
ทั้งนี้ รองนายกฯมิ่งขวัญ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าพหุภาคีเป็นลำดับแรก แต่อย่างไรก็ตามไทยมิได้คัดค้านในหลักการหากเอเปคจะมีการเตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในอนาคต ซึ่งไทยมองว่าเอเปคควรศึกษาประเด็นต่างๆให้รอบคอบ รัดกุม และดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่า FTAAP ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิก ประกอบกับเอเปคเป็นเวทีความร่วมมือ ไม่ใช่เวทีการเจรจา การดำเนินงานของเอเปคเป็นไปตามความสมัครใจไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งด้วยโครงสร้างและหลักการทำงานของเอเปคในปัจจุบันไม่รองรับการจัดทำ FTA ของเอเปคแต่อย่างใด ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่เอเปคดำเนินการอยู่คือเตรียมการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น การศึกษาความตกลง FTA ที่มีในภูมิภาคนี้ว่ามีความเหมือน หรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร การรวบรวมการศึกษาการเจรจาจัดทำ FTA ในเอเชียแปซิฟิก และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนแบบหลายฝ่าย (Plurilateral Investment Agreement)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ