PTTAR ลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร่วมของธุรกิจโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ (Synergy Project)

จันทร์ ๒๖ พฤษภาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๓๘
กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2551) เวลา 13.00 น. นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ลงนามในสัญญาเงินกู้สกุลเงินบาท จำนวน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 9 ปี กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTAR กล่าวว่า “การลงนามสัญญาเงินกู้ในวันนี้ นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการพยายามลดค่าใช้จ่ายทางการเงินและปรับปรุงโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทฯ ให้มีความคล่องตัวในการบริหารทางการเงิน เนื่องจากโครงสร้างเงินกู้ดังกล่าวมีลักษณะเป็น “Revolving Basis” คือ บริษัทฯ สามารถเบิกถอนและคืนเงินกู้จากวงเงินนี้ได้ตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะนำเงินกู้ดังกล่าวมาใช้ลงทุนในโครงการขยายงานและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร่วมของธุรกิจโรงกลั่นและอะโรเมติกส์ และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของบริษัทฯ นอกจากนั้นยังจะสามารถนำไป Refinance คืนเงินกู้เดิมบางส่วน เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยให้ต่ำลง พร้อมกับยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารทางการเงินของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นและผลิตสารอะโรเมติกส์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ซึ่งจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2551 และโครงการ Upgrading Complex Phase I ซึ่งเป็นโครงการนำคอนเดนเสท เรสซิดิว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงงานอะโรเมติกส์ไปกลั่นเป็นน้ำมันอากาศยาน Jet A-1 และน้ำมันดีเซล ซึ่งจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนงานที่จะลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระหว่างธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจอะโรเมติกส์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 2. โครงการก่อสร้างหน่วยกำจัดสารปรอทในโรงกลั่น เพื่อให้การเลือกใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นมีความคล่องตัวมากขึ้น 3. โครงการนำไฮโดรเจนจากโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 มาใช้ในโรงกลั่นน้ำมัน 4. โครงการ Upgrading Project Phase II (DHDS) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ตามมาตรฐาน EURO IV และ 5. โครงการปรับปรุงโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ