กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สมาคมกุ้งทะเลไทย
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2551) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งนำโดย นายเอกพจน์ ยอดพินิจ ผู้แทนสมาคมกุ้งทะเลไทย และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย นายสมปอง ชาววังไทร นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นายปกครอง เกิดสุข ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ นายจักรินทร์ เพชรเจริญ ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี นายสรวุฒิ จิระพันธ์ ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี นายแพทย์ธีรวัฒน์ หงสกุล ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสตูล และนายสัตวแพทย์ยุทธนา สิงหพันธ์ ปธ.กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน รวมกว่า 10 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ กำลังสร้างความเดือดร้อนหนักให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่บีบคั้น ราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตต่างๆพุ่งสูง ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงเดินทางมาขอให้เร่งแก้ปัญหา ช่วยพยุงราคาโดยการรับจำนำกุ้ง เนื่องจากจะเป็นมาตรการที่ช่วยเกษตรกรได้
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังประสบภาวะวิกฤติราคากุ้งตกต่ำ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งที่อาหารโปรตีนต่างๆของโลก ล้วนแต่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นๆ เช่น เนื้อสุกร เนื้อไก่ เนื้อปลา ฯลฯ ขณะที่ ราคากุ้งกลับตกต่ำและมีแนวโน้มลดลงทุกวัน (ดังแสดงในกราฟ) เชื่อว่ามาตรการจำนำกุ้ง จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ได้ เพราะจะสามารถรองรับผลผลิตกุ้งที่ออกมาของพี่น้องเกษตรกรไว้ก่อน ในช่วงวิกฤติราคากุ้งตกต่ำนี้
ที่สำคัญเชื่อมั่นว่า กระทรวงพาณิชย์ โดย พณฯ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จะสามารถใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเร่งแก้วิกฤติราคากุ้งตกต่ำให้กับพี่น้องเกษตรกรได้โดยเร็ว เหมือนที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เคยดำเนินการให้มีโครงการรับจำนำกุ้งขาว (ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2550) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหา และคลี่คลายปัญหากุ้งราคาตกต่ำต่อเนื่องได้ทันการณ์ สำหรับวิกฤติราคากุ้งตกต่ำครั้งนี้ พวกเราในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ขอสนับสนุนแนวทาง “รับจำนำกุ้ง” ดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาแก้ปัญหาราคากุ้งที่ตกต่ำอย่างมากในปัจจุบัน ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ให้ราคากุ้งดีมีเสถียรภาพได้ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของภาคการผลิตและทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพราะกุ้งเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการครองชีพของคนจำนวนมาก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนภายในเดือนนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศจะมีการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเราเดือดร้อนหนักมากอยู่กันไม่ได้แล้ว นายเอกพจน์ ยอดพินิจ กล่าวทิ้งท้าย
ราคากุ้งขาวแวนนาไม (29 พ.ค. 2551) ขนาด 40 ตัว/กก. ราคา 130 บาท, ขนาด 50 ตัว/กก. ราคา 110 บาท, 60 ตัว/กก. ราคา 100 บาท, 70 ตัว/กก. ราคา 95 บาท, 80 ตัว/กก. ราคา 91 บาท, 90 ตัว/กก. ราคา 88 บาท และ 100 ตัว ราคา 83 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
โทร. 081-956-6611