ออมสิน โชว์กำไรไตรมาสแรก 3.4 พันล้านบาท

จันทร์ ๐๒ มิถุนายน ๒๐๐๘ ๑๓:๑๕
กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสินเผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 51 มีกำไรสุทธิกว่า 3,400 ล้าน ยอดสินเชื่อและปริมาณเงินลงทุนขยายตัว ดันกำไรสุทธิสูงกว่าปีก่อนเกือบ 1,200 ล้านบาท
นายวิศิษฐ์ วงศ์รวมลาภ กรรมการธนาคารออมสิน รักษาการแทน ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลประกอบการธนาคารออมสิน งวดไตรมาสแรกปี 2551 (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2551) มีกำไรสุทธิ 3,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,196 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ไตรมาสแรกปี 2550) ที่มีกำไรสุทธิ 2,268 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ประกอบกับการมีมาตรการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ จึงทำให้ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ธนาคารฯ มีเงินให้สินเชื่อจำนวนรวมทั้งสิ้น 477,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,140 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีการอนุมัติสินเชื่อใหม่จำนวน 7,664 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.7 ของเป้าหมายสินเชื่อเพิ่มสุทธิทั้งปี ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท อาทิ สินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่ออเนกประสงค์ สินเชื่อเอกชนขนาดใหญ่ และ สินเชื่อธุรกิจ เป็นต้น
ในด้านฐานะการเงินของธนาคารออมสิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 มีสินทรัพย์รวม 757,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2550 มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวน 234,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,867 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 643,974 ล้านบาท ลดลง 2,798 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ส่วนของทุนอยู่ที่ 88,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,081 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.7 และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 22.43
“ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ผลประกอบการของธนาคารฯ ยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแทบทุกด้านนั้น เป็นผลมาจากการความร่วมมือร่วมใจของพนักงานธนาคารออมสินทุกคน ที่นำนโยบายของธนาคารฯ ทั้งในเชิงสังคมและธุรกิจไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างสมดุล ซึ่งจากผลการดำเนินงานข้างต้นไม่เพียงสะท้อนฐานะทางการเงินที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังแสดงออกถึงศักยภาพของธนาคารออมสินที่โดดเด่นด้วยบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ จึงเชื่อมั่น ว่าผลการดำเนินงานปี 2551 ธนาคารออมสินจะมีกำไรสุทธิสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญด้านสินเชื่อของธนาคารออมสิน โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงแหล่งทุน โดยในปี 2551 ธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 176,500 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกได้มีการอนุมัติไปแล้วจำนวน 46,575 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 ของเป้าหมาย สำหรับสินเชื่อที่ดำเนินการได้ตามเป้าหมายได้แก่ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ (สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตครู และ สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการ) และ สินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายมากที่สุด ถึงร้อยละ 60 และร้อยละ 177 ของเป้าหมาย ตามลำดับ
ในส่วนของสินเชื่อที่สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เช่น สินเชื่อธนาคารประชาชน ปล่อยสินเชื่อได้ 975 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านสามารถปล่อยได้ 750 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถปล่อยได้ 1,608 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของเป้าหมายทั้งปี 2551
รักษาการแทน ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2551 ธนาคารฯ ยังคงบทบาทที่สำคัญของความเป็นธนาคารออมสิน คือ มุ่งส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินสำหรับประชาชนทุกระดับ การขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มทุกระดับ และบทบาทที่สำคัญในขณะนี้ คือ มุ่งเน้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยยังคงบทบาทสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก อาทิ การเตรียมความพร้อมให้พนักงานลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ก่อนการดำเนินการโอนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านในโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมอาชีพให้แก่ลูกค้า โดยเน้นผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของลูกค้าของธนาคารฯ ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพและเพิ่มพูนรายได้ สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันกับพันธมิตร เช่น กรมการพัฒนาชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2551 นี้
ธนาคารออมสิน ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เชื่อว่าเครือข่ายสาขากว่า 600 แห่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ทั่วถึงเป็นอย่างดี” นายวิศิษฐ์ กล่าวในที่สุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ