กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนา “ตะลุยแดนภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” ให้ความรู้ที่ขอนแก่น แนะโอกาสการค้าในอินเดียให้ผู้ประกอบการอีสาน

จันทร์ ๐๒ มิถุนายน ๒๐๐๘ ๑๖:๕๕
กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--DEK -PR
โครงการสัมมนาเชิงวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจตลาดอินเดีย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนา “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” เดินสายให้ความรู้ที่จังหวัดขอนแก่น โดยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับอินเดียจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อปี ประกอบกับเป็นตลาดใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการวางยุทธศาตร์เพื่อขยายการค้า เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากร 1,100 ล้านคน และมีศักยภาพการเติบดตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเดียเป็นตลาดที่น่าจับตามองของหลายๆประเทศ นอกจากนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะรับผิดชอบเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เปิดประตูโดยเจรจาลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อเป็นช่องทางขยายการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
นายชนะ กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันไทย-อินเดียเจรจาเปิดเสรี FTA การค้าสินค้าไปแล้วสำหรับกลุ่มแรกจำนวน 82 รายการ และยกเลิกภาษีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 มูลค่าการค้ารวมได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 ซึ่งนับตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้ในปี 2547 อันเป็นสัญญาณที่ดีว่าการค้าเริ่มขยายตัวหลังจากมีการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้ากลุ่มดังกล่าว (82 รายหาร) ทั้งนี้ภาครัฐเองก็พยายามประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าสินค้าให้มากที่สุด ในการจัดสัมมนาในวันนี้ นอกเหนือจากวิทยากรจากภาครัฐ มีวิทยากรจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับอินเดียมาเล่าประสบการณ์เพื่อให้ผู้ที่สนใจทำธุรกิจในตลาดอินเดียเตรียมความพร้อมตัวและศึกษาข้อมูลเพื่อแข่งขันต่อไป ซึ่งถ้าเตรียมตัวดีก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน
นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในงานสัมมนากล่าวเปิดสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ขอนแก่นเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรกว่า 1,700,00 คน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ดี อยู่ตรงกลางระหว่างจีนและอินเดีย โดยมีถนนมิตรภาพตัดกับ East-West Economic Corridor เชื่อมอินโดจีนและจีนตอนใต้ มีความพร้อมในเส้นทางโลจิสติกส์ และบุคลากร เพราะมีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ติดอันดับต้น ๆ และการส่งเสริมจากภาครัฐที่ในเรื่องอีสานซอฟท์แวร์ปาร์ค เป็นนครเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงนับได้ว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไปในอนาคต
การจัดสัมมนาครั้งนี้นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวอีสาน เราได้เห็นตลาดและศักยภาพของตลาดอินเดีย ทางภาครัฐเองก็มีความพร้อมที่จะสนับสนุน แต่การจะค้าขายให้สำเร็จจะต้องรู้เขา รู้เราด้วย ในการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มพูนให้รู้เขาเพิ่มขึ้น ขอให้ท่านได้เก็บเกี่ยวเรื่องราวเหล่านี้ไปขยายผล โดยทางจังหวัดขอนแก่นเองก็จะร่วมมือด้วยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป”
การสัมมนา “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” ที่ขอนแก่น ประกอบไปด้วยวิทยากรหลากหลายทั้งจากภาครัฐที่ให้ความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอินเดียและการการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี FTA ไทย-อินเดีย โดยครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากหัวหน้าคณะเจรจา นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน 2 บริษัทที่มีประสบการณ์ตรงในตลาดอินเดีย นายอนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและกรรมการบริหาร บมจ. เดลต้า อิเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย และนายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายต่างประเทศ บจก. เอสซีจี พลาสติกส์ (ในเครือปูนซีเมนต์ไทย) มาบอกเล่าข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ
นางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดอินเดียว่า “อินเดียเริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการค้า ตั้งแต่ปี 1991 โดยใช้นโยบาย Look East คือสร้างเชื่อมโยงกับกลุมประทเศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ ไทยก็มีนโยบาย Look West ที่มุ่งหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจซึ่งนับเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันพอดี ในขณะที่เมื่อเทียบปริมาณการค้ากับอินเดียในกลุ่มประเทศอาเซียน นับว่าสัดส่วนการค้าของไทยยังน้อยอยู่ น่าจะสามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นได้ ปัจจุบันประเทศที่อินเดียนำเข้าสูงคือ จีน 7.3% รองลงมาคือ อเมริกา ส่วนประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ (2.2%) มาเลเซีย (2%) และไทย (0.8%) ไทยยังมีสัดส่วนการค้าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นโอกาสว่ายังมีอยู่อีกมาก”
คุณบุณิกากล่าวต่อว่า “ นับตั้งแต่ ปี 2547 มูลค่าการค้ารวมของไทย-อินเดีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 มีมูลค่าการค้ารวม 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38% จากปี 2549 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าในกลุ่ม 82 รายการ ในปี 2550 มีมูลค่ารวม 451 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9.5 % ของการค้ารวม
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอกับอินเดียได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้ด้วย หลังจากที่มีประสบการณ์ในการเจรจากับอินเดียตลอด 6 ปี นายชนะกล่าวว่า
“ตลาดที่ง่ายทุกคนก็อยากไปแต่การแข่งขันมีสูง ขณะที่ตลาดอินเดียยาก และยังมีอุปสรรคในด้านต่างๆ ประกอบกับ เป็นชาติที่มีความอดทน ไม่เชื่อใจใครง่าย ในการเดินทางไปอินเดียครั้งเดียวไม่สามารถจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ กว่าจะเจรจาเปิดเสรีสินค้ากลุ่ม 82 รายการ ยังใช้เวลาในการเจรจาเกือบ 2ปี จากสินค้าทั้งหมดเกือบ 6,000 รายการ ทั้งยังมีเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งอินเดียกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างยากเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดอินเดียได้ง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญในการเจรจากับอินเดีย รวมทั้งการเจรจาธุรกิจคือเรื่องความอดทน”
นายอนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและกรรมการบริหาร บมจ. เดลต้า อิเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย เล่าประสบการณ์ในการเข้าไปลงทุนในอินเดียที่มองในมุมต่างไปในฐานะนักธุรกิจก็มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส
“สาธารณูปโภคของอินเดียยังไม่ดีนัก ผมเห็นไฟดับและการขโมยไฟในอินเดียเลยเห็นโอกาสที่จะเข้าไปผลิตและจำหน่ายเครื่องสำรองไฟ จึงเริ่มทำธุรกิจในอินเดีย และจ้างคนอินเดียมาร่วมบริหารงาน ระบบราชการค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจากการบริหารแบ่งเป็นรัฐต่างๆ หลายรัฐ ซึ่งต้องเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง เริ่มต้นในปีแรกมีรายได้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจาก 3-4 ปีผ่านไปยอดขายเริ่มขยายตัวสูงขึ้น ล่าสุดปีที่แล้วเรามียอกขาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันเริ่มส่งออกสินค้าที่ผลิตในอินเดียเไปจีนเนื่องจากค่าแรงที่ต่ำกว่า ตอนนี้ Delta เป็นที่รู้จักดีในอินเดีย ให้การยอมรับDElta ดีมาก แม้จะเคยผลิตให้แบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ แต่ในอินเดียเราเริ่มพัฒนาแบรนด์เดลต้าให้เป็นที่รู้จัก โดยกำหนดตลาดกลางลงไปอย่างชัดเจน”
นายอนุสรณ์ กล่าวเสริมในเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจไทยอินเดีย ทั้งนี้ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เพิ่งจัดตั้งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจระหว่างไทยและอินเดียให้มีมากยิ่งขึ้น
นายเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายต่างประเทศ บจก. เอสซีจี พลาสติกส์ (ในเครือปูนซีเมนต์ไทย) อีกหนึ่งบริษัทไทยที่เข้าไปตลาดอินเดีย กล่าวถึงประสบการณ์ด้านการบุกตลาดอินเดียว่า “อินเดียมีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของอเมริกา เป็นอันดับ 7 ของโลก ประชากรราวครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 25 ปี ทุกปีมีเด็กเกิดใหม่ 20 ล้านคน ค่าเงินบาทและรูปีเกือบเท่ากับ (1 รูปี = 1.3 บาท) ใครอยากลงทุน ก็ต้องศึกษาเยอะ ๆ เพราะว่าแต่ละรัฐมีจุดเด่นแตกต่างกัน แต่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการเมืองมั่นคง คนอินเดียอ่านออกเขียนได้ 60 กว่า% พูดภาษาอังกฤษเก่งแต่ว่าเขียนไม่เก่ง ชอบข้อมูลข่าวสารมาก มักสืบค้นข้อมูลด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตมาก แต่กลับมีการซื้อของออนไลน์น้อย เนื่องจากอยากเห็นสินค้าจริงมากกว่า”
นายเฉลิมพล แนะนำว่าหากต้องการทำธุรกิจกับอินเดีย ก็น่าจะหันไปมองทางใต้ของอินเดีย เนื่องจาก ทางเหนือและตะวันตกมีการพัฒนามากกว่าในแง่สาธารณูปโภคและการแข่งขันสูง เมื่อเทียบกับทางใต้ที่ยังมีการแข่งขันน้อย แนะนำให้ไปออกงานแสดงสินค้า ต้องมีเว็บไซต์ ในประเทศนี้ขายได้ทุกอย่าง
เมื่อเจรจาทำธุรกิจ ก่อนอื่นอินเดียจะคุยเรื่องราคา เขาต่อรองเก่งแต่ว่าให้ในราคาที่เราสามารถทำได้จริง หลังจากนั้นเขาจะขอดูภาพสินค้า แล้วจึงจะขอดูตัวอย่างสินค้า แล้วจึงตกลงเรื่องราคาอีกรอบหนึ่ง ข้อดีของการค้าขายกับอินเดีย คือสามารถเสนอแบรนด์ได้เลย ส่วนธรรมเนียมของการเจรจากับอินเดีย ควรแต่งตัวเป็นทางการเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและควรเตรียมนามบัตรไปมากๆ ในการคุยให้คุยกับคนที่อาวุโสก่อนและต้องอดทนมากๆ ในการเจรจาต่อรอง ถ้าอินเดียเชิญทานอาหารเย็นหมายความว่าธุรกิจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ การสั่งซื้อสินค้าครั้งแรก”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ