กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดตัว “ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า” พร้อมทั้งพิธีลงนามการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ระหว่างคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และบริษัท บดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า เป็นโครงการนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้ที่ได้มาจากผลงานวิจัย ในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ที่นำไป“ขายได้จริง” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “ความคิดใหม่” หรือ “ต้นแบบ” เท่านั้น ที่สำคัญคือเป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่ได้รับทั้งจากการวิจัยและพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร มาสร้างเป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการร่วมผลักดันและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาใช้ได้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนก็สามารถที่จะพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้ โครงการนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ผนวกกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ มาประยุกต์ให้เกิดเป็นของใหม่ในรูปแบบง่ายๆ อย่างเช่นข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า”
ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า นี้ เป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่ง สนช. ได้ประสานงานด้านวิชาการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มาผนวกกับกระบวนการบริหารจัดการความรู้ โดยนำเอาองค์ความรู้สำคัญที่ได้มาจากการวิจัยและพัฒนาตัวไหม ของศูนย์นวัตกรรมไหม คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการนำตัวไหมมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารประเภทขนมขบเคี้ยวในรูปแบบของข้าวเกรียบสำเร็จรูป และในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เซมเบ้ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับบริษัท บดินทร์ไหมไทย-โคราช จำกัด มีการเจรจาการจ่ายค่าตอบแทนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ให้กับคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคณะผู้วิจัย ที่จะร่วมกันพัฒนางานวิจัยในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจบนฐานความรู้ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับของอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เนื่องจากผลงานวิจัยของคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่าตัวไหมมีกรดไลโนเลอิค และกรดไลโนเลนิค ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับมีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ลดไขมันในเลือด ทั้งไตรกลีเซอไรด์ และโคเรสเตอรอล นอกจากนี้ตัวไหมยังมี ฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) ที่เป็นโครงสร้างของเยื่อเซลล์ทุกชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ ควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล”
ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. เปิดเผยว่า “ข้าวเกรียบไหมฟ้า ทำได้โดยการนำตัวไหมมาอบแห้งแล้วบดละเอียด นำมาผสมกับส่วนผสมที่มีแป้งมันเป็นส่วนผสมหลัก แล้วนวดแป้งให้เป็นเนื้อเดียวกัน นึ่งขึ้นรูปให้แป้งสุกอย่าทั่วถึง ทิ้งให้เย็น หั่นให้เป็นแผ่น อบแห้ง แล้วนำไปทอดในน้ำมันที่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม ส่วนเซมเบ้ไหมฟ้า ทำจากแป้งข้าวเจ้าที่มีส่วนผสมของตัวไหมป่น แล้วนำไปขึ้นรูปตามที่กำหนด นำไปนึ่งให้แป้งสุก อบแห้ง แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิสูง ให้สุกพองกรอบ แล้วปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรส ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวไหมที่เป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมผ้าไทย ที่ปัจจุบันชาวบ้านนำไปทอดรับประทาน ซึ่งมีมูลค่า 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบจะมีมูลค่าประมาณ 330 บาทต่อกิโลกรัม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เซมเบ้ (ข้าวอบกรอบ) จะมีมูลค่าประมาณ 450 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยวที่เป็นอาหารรองท้องมีมูลค่าตลาดในประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้นับว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้สนใจสามารถจะทดลอง หาซื้อรับประทานผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบไหมฟ้า และเซมเบ้ไหมฟ้า ได้ในงาน INNOMAX 2008 ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยมาจำหน่ายให้กับผู้เข้าร่วมงาน จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับฐานเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”
- ๑๖ พ.ย. 'อนุวัฒน์ ศรีโฉม' หนุ่มสัตวบาล เก็บเกี่ยวประสบการณ์ 10 ปี เดินหน้าอาชีพ "คอนแทรคฟาร์มมิ่ง" เลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ
- ๑๗ พ.ย. ADVICE จุดพลุ ประเดิมเปิด Samsung Galaxy Campus Store แห่งแรกในไทยที่ ม.สารคาม พร้อมต่อยอด Service center ครบวงจร
- ๑๗ พ.ย. MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ กับ บริษัท อินเตอร์คอนเน็ค โซลูชั่น จำกัด