กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--โอเค แมส
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้บริการการเดินอากาศ และเป็นหน่วยงานควบคุมการบินแห่งชาติ ซึ่งให้บริการมา 60 ปี ภายใต้การบริการด้วยมาตรฐานสากล โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดของผู้ใช้บริการ ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา วิทยุการบินฯ ได้รับความไว้วางใจจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้เป็นผู้บริหารจัดการน่านฟ้าเขตประเทศไทย และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายพิเศษด้วยดีมาตลอด ปัจจุบันให้บริการแก่สายการบินมากกว่า 300,000 เที่ยวบินต่อปี และยังเป็นหน่วยงานที่บริการด้านอุปกรณ์ระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน และส่งเสริมด้าน Logistics ของประเทศด้วย วิทยุการบินฯ มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาให้บริการแก่สายการบินตลอดมา ทั้งในส่วนของระบบนำร่องและติดตามอากาศยาน เพื่อการบริหารจัดการด้านจราจรทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความไว้วางใจจาก ICAO ให้ศึกษา คิดค้น และพัฒนาระบบ BOBCAT (Bay of Bengal Cooperative Air Traffic Flow Management System) เป็นระบบที่ช่วยให้คำแนะนำกับสายการบินที่ใช้เส้นทางบินจากทวีปเอเชีย ไปยังยุโรป ที่ผ่านบริเวณน่านฟ้าอัฟกานิสถานให้มีความคล่องตัวขึ้น และในเร็ว ๆ นี้จะมีการนำเทคโนโลยีดาวเทียม Global Navigation Satellite System หรือ GNSS มาใช้ในกิจการบิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการบิน ตามยุทธศาสตร์หลักของ ICAO ซึ่งเราได้เป็นเจ้าภาพในการทดสอบ ความสามารถของระบบ GNSS ร่วมกับกลุ่มประเทศ APEC ภายใต้โครงการ APEC GNSS Test bed ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา วิทยุการบินฯ ได้รับความไว้วางใจจาก ICAO ให้เป็นผู้จัดการประชุม APEC GNSS Technological Innovation Summit และการประชุม APEC Global Navigation Satellite System Implementation Team เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน และร่วมหารือถึงการพัฒนากิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ก้าวหน้าทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดในระดับสากล มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากกลุ่มประเทศ APEC กว่า 160 คน จากกว่า 10 ประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งและ Logistics ของประเทศ เช่น กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมขนส่งทางบก เป็นต้น โดยจะจัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2551 ณ ห้องประชุมแม่น้ำแกรนด์ โรงแรมแม่น้ำริเวอร์ไซด์ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านการควบคุมจราจรทางอากาศในภูมิภาค และให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงประโยชน์และการใช้งานระบบ GNSS ในการเพิ่มความปลอดภัยแก่กิจการบิน เทคโนโลยีดาวเทียม GNSS เป็นดาวเทียมที่สามารถระบุตำแหน่ง ความเร็ว และเวลาของอากาศยานขณะทำการบินได้ทั่วทุกมุมโลก มีบทบาทในการให้บริการนำร่องและนำร่อนสำหรับกิจการบินทั่วโลก โดยระบบดังกล่าวช่วยในการนำร่องอากาศยานเข้าสู่สนามบินและร่อนลงได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งช่วยติดตามอากาศยานและพาหนะต่าง ๆ อย่างแม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือสูง อีกทั้งยังเป็นระบบนำทางที่สามารถให้บริการได้ทั้งทางบก น้ำ และอากาศอีกด้วย ปัจจุบัน ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย - เครื่องช่วยการเดินอากาศแบบทัศนวิสัย เป็นเครื่องช่วยการเดินอากาศที่ทำให้เกิดความปลอดภัย และเพิ่มความสามารถในการทำการบิน โดยการใช้สายตามอง - ระบบวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ คืออุปกรณ์วิทยุที่ส่งสัญญาณออกไป เพื่อให้อากาศยานสามารถบินไปยังจุดหมายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศปัจจุบัน ระบบ GNSS สามารถบอกความแม่นยำในการระบุตำแหน่งอากาศยานได้อย่างชัดเจน โดยให้ข้อมูลนักบินเป็นแบบ 4 มิติ ประกอบด้วย ลองติจูด ละติจูด ความสูง และเวลา ซึ่งอากาศยานสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณชุดเดียวกันในทุกช่วงเวลาทำการบิน สำหรับในด้านกิจการบิน ระบบนี้จะช่วยประหยัดน้ำมันและลดมลภาวะทางเสียง รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบิน นอกเหนือจากนั้นระบบนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านคมนาคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนประหยัดงบประมาณด้วย ตามนโยบายของ ICAO กำหนดให้ประเทศไทยใช้งานระบบ GNSS เป็นระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ ให้ครอบคลุมทุกสนามบินของประเทศภายในปี 2559 โดยในเดือน กรกฎาคมนี้ จะเริ่มใช้งาน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เป็นสนามบินแรก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ บริษัท โอเค แมส จำกัด คุณภัทรานิษฐ์ ตันศรีกุลรัตน์ (เอ) โทร.0-2618-7780-4 ต่อ 102 / (081) 700-5224 คุณนภสร จู่พิชญ์ (น้ำ) โทร.0-2618-7780-4 ต่อ 108 / (084) 525-4574 คุณธนพร สุขมี (แหม่ม) โทร. 02-618-7782-4 ต่อ103 / 086-707-4263
- ๒๓ ธ.ค. CAAT ผลักดันระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) ด้วยแนวคิด PDCA เพื่อสนับสนุนให้สนามบินมุ่งสู่เป้าหมายสนามบินสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ธ.ค. ๒๕๖๗ โตชิบาพัฒนาต้นแบบมอเตอร์ตัวนำยิ่งยวดกำลังสูงที่มีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด สำหรับการใช้งานในยานพาหนะ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ จับตาการพัฒนา AirMED ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของบุคลากรการบิน