กรมธนารักษ์ และ ปตท. ร่วมลงนามสัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุ พร้อมชำระค่าตอบแทน

อังคาร ๐๓ มิถุนายน ๒๐๐๘ ๑๓:๓๑
กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กรมธนารักษ์
วันนี้ (3 มิถุนายน 2551) เวลา 09.30 น. ณ กรมธนารักษ์ ได้มีการลงนามในสัญญาให้ใช้ ที่ราชพัสดุที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังในการดำเนินกิจการของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)โดยมีค่าตอบแทน โดยมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน เป็นประธาน นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ร่วมลงนาม
นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของการลงนามในวันนี้ว่า สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้แก่กระทรวงการคลังโดยให้ ปตท. ยังคงมีสิทธิใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวต่อไป แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่ง ปตท. และกรมธนารักษ์ได้ร่วมกันสำรวจและตรวจสอบทรัพย์สินที่จะดำเนินการแบ่งแยก และได้มีการลงนามบันทึกการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ที่ผ่านมาซึ่งมีรายละเอียดของทรัพย์สินที่แบ่งแยกดังนี้
1. ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ใช้เงินทุนจากรัฐและใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดินเนื้อที่รวม 32 ไร่ 0 งาน 74.1 ตารางวา จำนวน 106 แปลง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมประมาณ 1 ล้านบาท
2. สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินเอกชนในการบังคับแก่ทรัพย์สินของเอกชน และจ่ายค่าทดแทนโดยใช้เงินของการปิโตรเลียมฯ ขณะที่มีฐานะเป็นองค์การของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมประมาณ 1,137 ล้านบาท
3. ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในที่ดิน ตามข้อ 1 และ 2 ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมประมาณ 14,808 ล้านบาท
4. ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (โครงการท่อย่อย) ที่อยู่ในที่ดินตามข้อ 2 ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมประมาณ 229 ล้านบาท
สำหรับการลงนามในวันนี้เป็นการลงนามในสัญญาเพื่อให้ ปตท. ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งเป็นที่ราชพัสดุมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 - 31 ธันวาคม 2580 ซึ่ง ปตท. จะต้องชำระค่าตอบแทนการใช้ย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึง 31 ธันวาคม 2550 เป็นเงิน 1,330,067,576.82 บาท (หนึ่งพันสามร้อยสามสิบล้านหกหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยเจ็ดสิบหกบาทแปดสิบสองสตางค์)พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำนวน 266,689,517.75 บาท (สองร้อยหกสิบหกล้านหกแสนแปดหมื่นเก้าพันห้าร้อยสิบเจ็ดบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์) รวมเป็นเงินประมาณ 1,596,757,094.57 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยเก้าสิบหกล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นเจ็ดพันเก้าสิบสี่บาทห้าสิบเจ็ดสตางค์) โดยค่าตอบแทนดังกล่าวคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) จากค่าผ่านท่อ โดยกำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำไว้ที่ 180 ล้านบาท ต่อปี และไม่เกิน 550 ล้านบาทต่อปี
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้กล่าวว่าสัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุนี้เป็นการตกลงเข้าทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เนื่องจากเป็นการเข้าทำรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียน (ปตท.) กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน (กระทรวงการคลังถือหุ้นใน ปตท. ร้อยละ 51.80 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ณ วันที่ 21 มีนาคม 2551) ตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ.2546 ดังนั้น ปตท. ต้องขออนุมัติการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ปตท. และเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และนำมาสู่ความสำเร็จของการลงนามในสัญญาร่วมกันในวันนี้
สำหรับการประเมินมูลค่ารายการตามสัญญาดังกล่าว ใช้วิธีมูลค่ารวมตามมูลค่า ณ ปัจจุบัน (Net Present Value) ในอัตราส่วนลดที่ 8.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สมเหตุสมผลและสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบัน เพราะเป็นอัตราเดียวกับอัตราผลตอบแทนการลงทุนใหม่ (Return on Invested Capital) ในกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 5,904 ล้านบาทสำหรับค่าใช้สินทรัพย์ตลอดระยะเวลา 30 ปีหรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 7,473 ล้านบาทหากรวมค่าใช้ทรัพย์สินย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544 ถึง 31 ธันวาคม 2550 (รวมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี) จำนวนประมาณ 1,596 ล้านบาท
การลงนามสัญญาในวันนี้นับเป็นความสำเร็จของ กรมธนารักษ์ และ ปตท. ที่ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและคำนวณค่าตอบแทนอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และเป็นไปตาม คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ได้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ได้ส่งมอบนี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนคนไทยทุกคนต่อไป
กรมธนารักษ์ กลุ่มประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร.0-2278-5641 โทร.0-2537-2159-60
โทรสาร.0-2278-5778 โทรสาร.0-2537-2174

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ