กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กทม.
เตรียมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก กทม.จำลองเหตุฝนตก 24 ชม.มากกว่า 200 มม.เพื่อซักซ้อมรับมือ พร้อมประสานหน่วยงานไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ หน่วยงานก่อสร้างถนน ให้ตรวจสอบความเรียบร้อยของท่อระบายน้ำ และติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ย้ำภารกิจเจ้าหน้าที่ประจำจุดก่อนฝนมาเพื่อแจ้งเตือนประชาชนรับมือฝนหนัก
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการเตรียมความพร้อมป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยมีนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ร่วมประชุม นำโดยนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ
จากการรายงานพายุในที่เข้าประเทศไทยพบว่าจะมีพายุเกิดขึ้นปีละ 3 ลูก ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย. ซึ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบจากน้ำฝนประมาณช่วงต้นถึงช่วงกลาง ส่วนช่วงปลายนอกจากปริมาณน้ำฝนแล้วยังมีเรื่องของน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน โดยสถิติน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปีที่ผ่านมาในเดือน ส.ค.ปริมาณฝนรายเดือนเฉลี่ย 196.7 มม.เดือน ก.ย.344.2 มม.และเดือนต.ค. 241.6 มม. และปริมาณฝนเฉลี่ยรายวันเดือน ส.ค.128.9 มม. เดือน ก.ย.156 มม. และเดือน ต.ค.143.9 มม. ทั้งนี้สถานการณ์น้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย.51 มีปริมาณน้ำฝนรวม 631.5 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 17 ปีของสำนักการระบายน้ำ 20% และมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีของกรมอุตุนิยมวิทยา 39% ซึ่งจะเห็นว่าฝนในปี 51 นี้มาเร็วกว่าทุกปี สำนักการระบายน้ำ ได้จำลองกรณีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั่วบริเวณ ตลอด 24 ชั่วโมง เกิน 200 มม.พบว่าในฝั่งตะวันออกสามารถระบายน้ำได้ภายใน 40 ชั่วโมง ฝั่งตะวันตก 49 ชั่วโมง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาโอกาสที่จะเกิดฝนตกขนาดนี้ยังไม่เคยมี สาเหตุที่จำลองสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อเตรียมการรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาให้พร้อมที่สุด
สำหรับการเตรียมพร้องรับมือกรณีฝนตกหนักนั้น กรุงเทพมหานครได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนพายุฝนให้ทุกฝ่ายทราบ พร้อมติดตามสถนการณ์ฝนตกอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังมีระบบระบายน้ำในพื้นที่ให้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว พร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน BEST แก้ไขและบรรเทาปัญหาอันเนื่องจากน้ำท่วม ส่วนในระดับเขตนั้นจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วย
ด้านปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการที่ผ่านมาเนื่องจากฝนตกในพื้นที่นั้น มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับส่งผลให้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าไม่สามารถทำงานได้ ปัญหาการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภค เช่นโทรศัพท์ ประปา หรือแม้กระทั่งหน่วยงานก่อสร้างถนนที่ไม่ในความรับผิดชอบของ กทม. เช่นการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงที่มีการตัดท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำและเขตพื้นที่ต่างๆ ประสานติดตามการทำงานกับหน่วยงานสาธารณูปโภคต่างๆ นั้นอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการตรวจรับงานที่มีการก่อสร้างบนทางเท้า ก่อนทีจะตรวจรับให้กำชับหน่วยงานตรวจสอบความสะอาดของท่อระบายน้ำไม่ให้มีวัสดุตกหล่นขวางการระบายน้ำได้
นอกจากนั้นรองปลัดกรุงเทพมหานครยังได้สั่งการให้เขตรายงานถนนเป็นหลุมบ่อน้ำขังได้แล้วแจ้งสำนักการโยธาเข้าแก้ไข พร้อมกำชับให้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตประจำจุดต่างๆ เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำฝนรวมถึงเตรียมพร้อมปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อศูนย์ป้องกันน้ำท่วมฯ จะได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนและประชาชนให้พร้อมรับมือป้องกันสถานการณ์