มาแตร์เดอี ควงคู่ ชุมแสงชนูทิศ คว้ารางวัล “แฟนต้ายุวทูต” ประจำกรุงเทพฯ และภาคกลาง

ศุกร์ ๑๓ มิถุนายน ๒๐๐๘ ๑๒:๓๓
กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
เสียงเฮกึกก้องอีกครั้ง บนเวทีการประกวดรอบชิงชนะเลิศ เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนรุ่นใหม่ หัวใจสีเขียว “แฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย” ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด รักษ์โลก รักถิ่นกำเนิด พร้อมต้อนรับทีมสมาชิกใหม่ จากกรุงเทพฯ และนครสวรรค์ ด้วย โครงการ “ขยะทั่วทิศ มลพิษทั่วโลก” ของทีม 3 สาวน้อย โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และ โครงการ “ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตอย่างพอเพียง” ของทีมเยาวชนจาก โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ ณ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน โดย ทั้ง 2 ทีม เตรียมบินลัดฟ้าไปเผยแพร่วัฒนธรรมและทัศนศึกษาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศญี่ปุ่น สมทบกับ “แฟนต้ายุวทูต” อีก 4 ทีม รวม 18 คน จากทั่วประเทศ ในราวเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท โคคา- โคลา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) ได้ทีมสมาชิกใหม่ “แฟนต้ายวุทูต” เพิ่มอีก 2 ทีม เมื่อประกาศผลการตัดสินให้ ด.ญ.ชวิภา ศุภนิมิตตระกูล, ด.ญ.สรัลพร วิชญชาติ และด.ญ.พิชญา มณีทัพ จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย พร้อมด้วย ด.ช.จักกฤษณ์ โคมณี, ด.ญ.สุพิชฌาย์ วิหกโต และด.ญ.นัฎสาท์ ทองศรี จากโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ ได้รับเลือกให้ครองตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” ประจำกรุงเทพฯ และภาคกลาง ตามลำดับ ภายหลังจากที่ได้ผ่านการประกวดโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด รักษ์โลก รักถิ่นกำเนิด พร้อมการแสดงเชิงสร้างสรรค์ ประกอบการนำเสนอโครงการฯ จนสามารถชนะใจกรรมการได้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งก่อนขึ้นเวทีประกวดรอบสุดท้าย น้องๆ เยาวชนผู้เข้าประกวด ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม “3 ประสาน” โดยความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลัก คือ โครงการแฟนต้ายุวทูต, สำนักงานเขตหลักสี่ และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ พร้อมได้รับแรงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ สมาคมเมืองทองนิเวศน์ 1 หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 ถ.แจ้งวัฒนะ ช่วยกันพัฒนาความสะอาดและปลูกต้นไม้ รอบบึงสีกัน เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกและ เด็กๆ ยังได้สนุกสนานกับการทาสีรั้วเพื่อให้น้องๆ หนูๆ ได้ใช้เป็นสนามเด็กเล่นภายในหมู่บ้านฯ อีกด้วย โดยหนึ่งในบรรดาน้องๆ โครงการแฟนต้ายุวทูตฯ ที่ตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือสังคมครั้งนี้ น้องฐิติทรัพย์ ศรีวโล เล่าด้วยสีหน้าเบิกบานว่า “ไม่เคยทาสีที่ไหนมาก่อน และรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือสังคมอื่นๆ ได้มีสนามเด็กเล่นสวยๆ ให้น้องเล็กๆ ได้วิ่งเล่น แม้จะไม่ใช่ชุมชนที่เราอาศัยอยู่ แต่เพราะนี่คือผืนแผ่นดินไทยเดียวกัน ไม่ว่าทำประโยชน์ที่ไหน ก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก”
และช่วงเวลาสำคัญที่ผู้เข้าประกวดแฟนต้ายุวทูตฯ ในปีนี้ ทั้งเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง รวม 20 โรงเรียน จะได้มีโอกาสโชว์ความสามารถและบทบาทการแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อมกันอย่างเต็มที่ จนในที่สุดเมื่อคณะกรรมการรวมคะแนนแล้ว เห็นควรให้ โครงการ “ขยะทั่วทิศ มลพิษทั่วโลก” ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เป็นทีมเหมาะสมสำหรับตำแหน่งแฟนต้ายุวทูต ประจำกรุงเทพฯ และโครงการ “ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตอย่างพอเพียง” ของเยาวชนจากโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ เหมาะสมสำหรับตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” ประจำภาคกลาง ซึ่ง ผศ.เฉลิมพล ดาวเรือง ประธานกรรมการการตัดสินโครงการแฟนต้า ยุวทูตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศแฟนต้ายุวทูตโฉมใหม่ครั้งนี้ว่า “วันนี้คณะกรรมการมีความหนักใจมาก เพราะทั้ง 20 โรงเรียน จากกรุงเทพฯ และภาคกลาง มาด้วยความพร้อมและแสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มความสามารถ แต่ภาพรวมของกทม. โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยดีที่สุดครอบคลุม ทั้งเรื่องการพูดคุย แสดงความคิดเห็น การแสดง โดยเฉพาะการตอบคำถามเรื่องขยะ คมคายและกินใจ คะแนนเป็นเอกฉันท์ ส่วนภาคกลางมีการลงมติระหว่างโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ กับโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง เพราะคะแนนสูสีและคู่คี่กัน แต่สรุปว่าภาพรวมของความเป็นทีมของโรงเรียนชุมแสงชนูทิศชัดเจนกว่า อย่างที่บอกว่าคำว่าทูตนั้น ต้องเพียบพร้อมในเรื่องของไหวพริบ การพูดจา การแสดง แต่ปีนี้เราเพิ่มเรื่องของทีมเวิร์ก ดังนั้น เรื่องของภาพรวมของทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการได้ตำแหน่งแฟนต้ายุวทูต”
สำหรับความรู้สึกของ “แฟนต้ายุวทูต” 6 คน ล่าสุดนั้น เยาวชนกรุงเทพฯ คนเก่งแห่ง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ชวิภา ศุภนิมิตตระกูล, สรัลพร วิชญชาติ และ พิชญา มณีทัพ เผยถึงโครงการขยะทั่วทิศ มลพิษทั่วโลก “จากการเห็นการทิ้งขยะที่ไม่ได้มีการคัดแยก ทั้งๆ ที่ทางโรงเรียนมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ จึงเริ่มเขียนการ์ตูนนิยาย สอดแทรกเรื่องราวของขยะอันตราย แล้วส่งฟอร์เวิร์ดเมล์ไปให้เพื่อน มีเพื่อนๆ ให้ความสนใจอ่านกันมาก จึงเริ่มขยายผลไปยังนักเรียนชั้นอื่นๆ อย่างชั้นของเด็กเล็ก พวกเราจะมีการทำเป็นสื่อป็อปอัพแล้วเอาไปเผยแพร่ให้น้องๆ ได้เข้าใจกัน และยังได้มีการสานต่อโครงการไปยังบุคคลภายนอก โดยยังคงยึดเรื่องของนิยายอยู่ แต่มีการเปลี่ยนสำนวนให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และยังได้มีการจัดพิมพ์เป็น 2 ภาษา รวมถึงทำเป็น VCD เรื่องการแยกขยะให้ดูน่าสนใจมากขึ้น โดยทำไว้สำหรับแจกให้แก่คนทั่วไปที่สนใจ และสำหรับการมาทำกิจกรรมนี้คุณครูมีส่วนช่วยเหลือมากค่ะทั้งในเรื่องคำแนะนำ แนวคิดต่างๆ รวมถึงการกลั่นกรองภาษา และวันนี้สิ่งที่แสดงให้เหล่าคณะกรรมการได้ชมเป็นการแสดงให้เห็นถึงพิษร้ายจากการไม่รู้จักคัดแยกขยะ โดยเล่าตั้งแต่อดีตทำให้เห็นภาพของการทิ้งขยะ ปัจจุบันที่ขยะยังไม่มีการคัดแยก จนมาถึงอนาคตที่แสดงให้เห็นทั้งผลดีของการแยกขยะ และผลร้ายของการไม่คัดแยกขยะ คิดว่าวันนี้สิ่งที่ชนะใจกรรมการคงมาจากการแสดงที่ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน ไปจนถึงความเป็นธรรมชาติของพวกเรา เพราะบทพูดของพวกเรานั้นไม่มีสคริปต์ค่ะ เล่นสดตลอด”
ด้านเยาวชนผู้ประสพความสำเร็จอีก 3 คนจาก จ.นครสวรรค์ โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จักกฤษณ์ โคมณี, สุพิชฌาย์ วิหกโต และนัฎสาท์ ทองศรี เผยด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นดีใจว่า กว่าจะมีวันนี้ได้นั้น ต้องผ่านคำวิจารณ์ต่างๆ นานาของเพื่อนๆ ในช่วงระหว่างการซ้อม ทั้งด้านรูปแบบการนำเสนอและบทบาทการแสดง ซึ่งโครงการ “ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตอย่างพอเพียง” ได้ถูกถ่ายทอดบนเวทีประกวดในลักษณะรายการทีวี เพื่อเป็นสื่อให้ผู้ชมเข้าถึงวิถีชีวิตพอเพียงได้โดยง่าย มีผู้รู้และปฏิบัติจริง มาเป็นแขกในรายการเพื่ออธิบายและแนะนำวิธีการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้นั้น น้องๆ ได้นำการดำรงชีวิตประจำวันของครอบครัวน้องจักกฤษณ์ สมาชิกในทีม ซึ่งมีคุณพ่อ เป็นประธานศูนย์อบรมการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้าน จึงได้นำแนวคิดของศูนย์นี้ มาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในโครงการประกวดครั้งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ซึ่งประโยชน์ของโครงการนี้ น้องจักกฤษณ์ ย้ำว่า “ต้องเข้าใจในหลัก 3 ห่วงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างท่องแท้ ห่วงที่ 1 คือ ความพอประมาณ การใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ฟุ้งเฟ้อ ห่วงที่ 2 คือ มีเหตุผล ต้องดูว่าสิ่งที่ต้องใช้จ่ายนั้นคุ้มค่าและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีสติ มีการวางแผน เช่น มีเงิน 4 ส่วน ควรใช้ 3 ส่วน อีก 1 ส่วน ควรเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คิดให้รอบคอบและไม่ประมาท”
สำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เยาวชนในเขตกรุงเทพฯ นอกจากโครงการของผู้ชนะเลิศแล้ว ยังมีโครงการที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมาก อาทิ กลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ โครงการนมผักกระเฉดดูดซับคราบน้ำมัน ของ โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์, โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ของ โรงเรียนทวีวัฒนา, โครงการปลูกป่า หนึ่งคน หนึ่งต้น เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ของ โรงเรียนเลิศหล้า ถ.เกษตร-นวมินทร์ กลุ่มโครงการที่เน้นการพัฒนาชุมชนใกล้ตัว ได้แก่ โครงการพัฒนาอาชีพ ท้องถิ่นไทย ของ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลโครงการยุวมัคคุเทศก์ ของโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร, โครงการดนตรีไทยสายน้ำ ของ โรงเรียนศึกษานารี และกลุ่มโครงการที่เน้นการพัฒนาภาพใหญ่ของสังคมโดยรวม ได้แก่ โครงการวัฒนธรรมนิทรรศ ของ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา, โครงการทำความดีถวายพระพี่นาง ของ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ และโครงการมหัศจรรย์.. ดอกกล้วยไม้ไทย ของ โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี
ส่วนโครงการของฝั่งเยาวชนภาคกลาง อีก 9 โรงเรียน ก็มีจุดเด่นด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่แพ้กันคือ กลุ่มโครงการที่คำนึงถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย ได้แก่ โครงการเยาวชนร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ของ โรงเรียนดรุณาราชบุรี จ.ราชบุรี, โครงการปรับปรุงน้ำเสีย เพื่อเพิ่มป่าชายเลนพัฒนาชายฝั่งเพื่อเมืองเกาะหลัก ของ โรงเรียนเทศบาลธรรมิการาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,โครงการแบ่งฝันปันน้ำใจจากพี่สู่น้องและร่วมรักษ์ป่าชายเลน ของ โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ จ.สมุทรสาคร, โครงการเกษตรชีวภาพเพื่อชีวิตพอเพียง ของ โรงเรียนวัดสระแก้ว (รุ่งโรจน์ธนกุลอุปถัมภ์) และ โครงการเรารักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมรักเรา ของ โรงเรียนสายปัญญา รังสิต จ.ปทุมธานี กลุ่มโครงการเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และการรีไซเคิล เช่น โครงการการประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววังลงในขวดแก้ว ของ โรงเรียนเอกอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา, โครงการมูลนิธิรีไซเคิล ของ โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ (แผนกหญิง) จ.นครปฐม, โครงการลดเมืองร้อนด้วยภาชนะใส่อาหารจากเส้นใยธรรมชาติ ของ โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี กลุ่มโครงการด้านพัฒนาอาชีพ คือ โครงการมัคคุเทศก์สองล้อ ของ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง
สำหรับการประกวดโครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ ขณะนี้ ได้ผู้ครองตำแหน่งรวม 9 คนแล้วจากภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ และภาคตะวันออก อยู่ในระหว่างดำเนินการประกวด และเมื่อครบทั้ง 6 ภาค จะได้ผู้ครองตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” รวม 18 คน เพื่อเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรรมไทย และทัศนศึกษาโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ประสพผลสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น ในราวเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณอนุศักดิ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ