กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กทม.
ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกพุ่ง กทม. เร่งรณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน มุ่งป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างจริงจัง ยึดแนวปฏิบัติ 5 ป ปลอดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
ดร.จักรพันธ์ พรนิมิตร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกลุ่มกรุงธนใต้ พร้อมคณะกรรมการกรุงธนใต้ ลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ชุมชนคานเรือครั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน เนื่องจากปีนี้การระบาดของโรคไขเลือดออกทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจากการรายงานของสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 11 มิ.ย. 51 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 2,739 ราย และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 4 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 50 พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 800 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงได้กำชับให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและให้มีการเสนอแผนป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการใช้มาตรการกำจัดลูกน้ำยุงลาย 5 ป ได้แก่ ปิด ฝาภาชนะ เช่น โอ่งน้ำให้เรียบร้อย เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในภาชนะกันไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ ปล่อย คือ ปล่อยปลาหางนกยูงลงในแหล่งน้ำเพื่อให้กินลูกน้ำยุงลาย ปรับ คือ ปรับสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติ คือ กำจัดยุงลายเป็นประจำทุกๆ 7 วัน เพื่อเป็นการตัดวงจรไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ โดยได้นำทรายอะเบทมาแจกให้กับประชาชน และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายในชุมชน หากประชาชนพบพื้นที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรือมีผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในข่ายต้องสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออกสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต หรือแจ้งได้ที่ 1555 ซึ่งกทม. จะมีการจัดส่งทีมเคลื่อนที่เร็วของสำนักอนามัยเข้าตรวจพื้นที่อย่างทันท่วงทีและระงับการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว และหากพบบ้านเรือนหรือสถานประกอบการใดปล่อยปละละเลยให้พื้นที่ของตนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะมีการดำเนินการจับ-ปรับตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต่อไป
ทั้งนี้สำนักงานเขตภาษีเจริญได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก สำรวจลูกน้ำยุงลายตามอาคารบ้านเรือนและที่พักอาศัยที่มีน้ำขัง ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสำรวจลูกน้ำยุงลาย แจกแผ่นพับ ใบปลิวเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก แจกทรายอะเบท และทรายบีฟอสแก่ประชาชน ฉีดพ่นสารเคมีในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเยอะ และฉีดพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงลาย