สนช. จับมือ เครือซีพี ประกาศศักยภาพเป็นผู้นำในภูมิภาค เปิดตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไทย

จันทร์ ๑๖ มิถุนายน ๒๐๐๘ ๑๖:๓๒
กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือกับบริษัท ซีพีพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลาสติก เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดงานแถลงข่าว “เปิดตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไทย” เพื่อประกาศความเป็นผู้นำในการสร้างตลาดผลิตภัณฑ์ของพลาสติกชีวภาพของประเทศและในภูมิภาค ขานรับนโยบายวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2551 ของประเทศไทย ภายใต้คำขวัญ “เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ริเริ่มผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของประเทศ เนื่องจากพลาสติกชีวภาพ (bioplastics) เป็นนวัตกรรมด้านวัสดุของโลก ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านวัตถุดิบที่นำมาจากทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้ (renewable resources) เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนเพราะใช้พลังงานต่ำ นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพยังสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติกลายเป็นปุ๋ยหมักในกระบวนการกำจัดขยะ ดังนั้น วงจรชีวิตของพลาสติกชีวภาพจึงเป็นวัฏจักรที่เลียนแบบธรรมชาติซึ่งทำให้เกิดการสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมูลค่าเพิ่มของพลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้จากมันสำปะหลังสูงมากกว่า 5 เท่า ดังนั้น รัฐบาลจึงมอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดทำ “แผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555” เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบการเกษตรโดยเฉพาะมันสำปะหลังที่ปลูกได้ถึง 27 ล้านตันต่อปี ผนวกกับศักยภาพที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมพลาสติกปลายน้ำจำนวนมากกว่า 4,000 โรงงาน ซึ่งสามารถผลิตสินค้าพลาสติกชีวภาพสู่ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย และตอบสนองความต้องการในตลาดโลก ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึงร้อยละ 30 ต่อปี แต่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั่วโลกรวมกันได้เพียง 500,000 ตันต่อปี ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรป (European Bioplastics) ได้คาดการณ์แนวโน้มความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพในตลาดโลกในปี ค.ศ. 2010 ว่าจะมีปริมาณเพิ่มสูงถึง 1 ล้านตัน จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระดับภูมิภาค”
ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “สนช. ได้ใช้กลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-Industry) ในการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เร่งพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตของตนเอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ การผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพผสม (bioplastic compounds) เพื่อนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เช่น บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างตลาดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย สนช. ได้ร่วมกับบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลาสติก เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดทำ “โครงการพัฒนาเทคโลยีการผลิตเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์” เพื่อนำไปสู่กระบวนการขึ้นรูปและทดสอบคุณภาพเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แก้วเย็นและฝาครอบ แก้วร้อน ช้อน ส้อม เม็ดพลาสติก บัตรแข็ง และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดย สนช. จะให้คำปรึกษาและสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการกับบริษัทตลอดระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้บริษัทสามารถคิดค้นสูตรเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเริ่มต้นพัฒนาบ้างแล้วจะมีตัวอย่างแสดงในงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย “ INNOMAX 2008 - Innovation Market and Exhibition 2008 ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ดังนั้นโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมและแสดงให้เห็นความสำคัญของแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำได้อย่างรวดเร็วต่อไป”
มร.มาร์ส กัว (Mr. Marss W. Kuo) ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ บริษัทฯ ตระหนักถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการสร้างความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค ภายใต้การผลักดันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่ควบคู่ไปกับการนำกลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมมาสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยี การผลิตและการลงทุน เพื่อรองรับความต้องการอย่างสูงของตลาดโลกที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ จากการที่บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับ สนช. ในการให้ความสำคัญต่อการเร่งสร้างตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติชีวภาพในประเทศขึ้นก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านตลาดสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในระดับต้นน้ำ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในระดับสูงและมีมูลค่าการลงทุนในระดับหลายพันล้านบาท ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับ สนช. จัดทำ ”โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพเชิงพาณิชย์” ขึ้นมา”
“เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงต้องการนโยบายและแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) มีความยินดีที่จะเป็นผู้เริ่มต้นดำเนินธุรกิจผลิตเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ ด้วยความพร้อมของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตเม็ดคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ ทั้งยังมีเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ภายใต้ความร่วมมือด้านวิชาการกับ สนช. และเครือข่ายนักวิจัยภาครัฐ ทำให้บริษัทฯมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพื่อสร้างนวัตกรรมให้แก่ประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้กับนักอุตสาหกรรมที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติในการขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังหรืออ้อย พร้อมกับช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างยั่งยืน” มร.มาร์ส กัว กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ