กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สศอ.
สศอ.แจงดัชนีอุตฯ เม.ย.ชะลอตัว ชี้ยานยนต์ - สิ่งทอ - น้ำตาล ผลิตน้อย มีผลทำให้ดัชนีอุตฯลดลง แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้จัดทำรายงานดัชนีอุตสาหกรรม ประจำเดือนเมษายน 2548 จากการประมวลผลทั้งสิ้น 2,000 โรงงาน ครอบคลุม 50 กลุ่มอุตสาหกรรม 203 ผลิตภัณฑ์ ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) โดย ดัชนีอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) เดือนเมษายนอยู่ที่ 126.72 ลดลงร้อยละ 11.66 จากเดือนก่อนที่ระดับ 143.12 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีแล้ว จากระดับ 120.63 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกดัชนียกเว้น ดัชนีแรงงานภาคอุตสาหกรรม ที่ลดลงเล็กน้อย
ดัชนีอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ประกอบด้วย ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 151.71 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.45 จากระดับ 148.43 และ ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 160.77 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.99 จากระดับ 124.93 ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมที่มีการปรับระดับลดลงจากเดือนก่อน ประกอบด้วย ดัชนีผลผลิต(มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ 132.58 ลดลงร้อยละ 13.31 จากระดับ 152.59 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ 131.44 ลดลงร้อยละ 13.51จากระดับ 149.30 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 96.89 ลดลงร้อยละ 11.76 จากระดับ 109.18 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ 154.09 ลดลงร้อยละ 5.06 จากระดับ 160.34 อัตราการใช้กำลังการผลิต ลดลงมาอยู่ที่ 62.44
นางชุตาภรณ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายนปรับลดลง คือ การผลิตยานยนต์ ซึ่งในภาพรวมมีการผลิตและจำหน่ายลดลงจากเดือนที่ผ่านมาเป็นปกติเช่นเดียวกับทุกปี ที่ในช่วงเวลานี้มีจำนวนวันทำงานที่น้อยเพราะหยุดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งจำนวนสินค้าคงคลังที่ผู้บริโภค และ ร้านค้าได้คงคลังไว้แล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งจะทำให้คำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายเกือบทุกค่ายลดลงในเดือนนี้
การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ ในเดือนเมษายน มีภาวะการการผลิตและจำหน่ายลดลง ทั้งเส้นด้ายและผ้าทอ โดย เส้นด้าย ลดลงเป็นผลมาจากมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง ไม่สามารถแข่งขันได้ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ในภาวะที่ทรงตัว สำหรับ ผ้าทอ ในการผลิตเพื่อส่งออกยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าจากประเทศไทยสูง ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ มีทิศทางที่ชะลอตัว เนื่องจากมีการแข่งขันกันด้านราคาจากสินค้าทั้งในประเทศและสินค้านำเข้า เช่นเดียวกันกับ อุตสาหกรรมเหล็ก ที่มีการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้ความต้องการในประเทศลดลง ซึ่งแนวโน้มทั้งปีคงจะต้องรอดูผลของความต้องการใช้สินค้าจากโครงการสาธารณูปโภคของรัฐขนาดใหญ่ที่กำลังจะดำเนินการ
การผลิตน้ำตาล ช่วงเดือนเมษายนโรงงานได้ปิดหีบตามฤดูกาลแล้ว โดยมีเพียงโรงงานบางแห่งเท่านั้น ที่ยังนำน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จึงทำให้การผลิตและจำหน่ายลดลง ซึ่งภาวะการจำหน่ายโดยรวมเดือนเมษายนอยู่ที่ 509,970.56 ตัน ลดลงร้อยละ 15.74 จากเดือนก่อนที่มียอดการจำหน่ายรวม 605,222.02 ตัน โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 157,572.70 ตัน ลดลงร้อยละ 28.42 จากเดือนก่อนที่ 220,123.60 ตัน ส่วนการส่งออกอยู่ที่ 352,397.86 ตัน ลดลงร้อยละ 8.49 จากเดือนก่อนที่ 385,098.42 ตัน
นอกจากนี้นางชุตาภรณ์ ยังได้กล่าวอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายนปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม โดยมีภาวะการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการเดินทางออกต่างจังหวัดของประชาชนอย่างคึกคัก จึงทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป 4,108 ล้านลิตร เพิ่มจากเดือนก่อน 60.3 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,036.5 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.8 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19
การผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีความต้องการสูง เพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงที่กุ้งมีการเจริญเติบโตได้ดี จึงมีความต้องการอาหารกุ้งเพิ่มขึ้น ส่วนภาวะการจำหน่ายลดลง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีการสั่งซื้ออาหารสัตว์เพื่อกักตุนไว้ก่อนแล้ว เพราะคาดว่าโรงงานจะต้องหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นอุปสรรค์ต่อการส่งมอบสินค้า.--จบ--