โตเกียว--20 มิ.ย.--เกียวโด เจบีเอ็น - เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจัดการประชุมครั้งที่ 8 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์อนุมัติปณิธานตามการเสนอแนะของญี่ปุ่นในหัวข้อ “ยุติการกีดกันบุคคลผู้ติดเชื้อโรคเรื้อนและสมาชิกในครอบครัว” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 58 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน อันเป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของนายโยเฮ ซาซากาว่า ประธานมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) ในการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มผู้ติดเชื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ตีพิมพ์ “แนวทางปฎิบัติตนตามกฎหมายจีน สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าออกหรืออาศัยอยู่ในจีนระหว่างการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ที่เป็นโรคเรื้อนเข้าสู่ประเทศในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.beijing2008.cn/news/official/bulletin/official/n214387789.shtml
โรคเรื้อนเป็นโรคที่รักษาได้ง่ายและถูกกำจัดไปจนหมดสิ้นแล้วใน 120 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้นยังแพร่เชื้อได้ยาก และกว่า 99% ของคนทั่วไปก็มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อเชื้อโรคเรื้อนอยู่แล้ว
การที่จีนออกคำสั่งห้ามถือว่าเป็นการไม่ใส่ใจความจริงดังกล่าว ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งผลให้บุคคลที่ติดโรคเรื้อนและสมาชิกในครอบครัวถูกกีดกันและเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ นายโยเฮ ซาซากาว่า ในฐานะฑูตพิเศษด้านการกำจัดโรคเรื้อนขององค์การอนามัยโลกและฑูตสันถวไมตรีด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วยโรคเรื้อนของญี่ปุ่น เล็งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงตัดสินใจส่งสาส์นไปยังนายกรัฐมนตรีหู จิ่นเทา ของจีน รวมถึงนายหลิว ฉี ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 และนายฌาคส์ ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
การที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของจีนออกคำสั่งห้ามดังกล่าวถือเป็นการละเมิดปณิธานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งรัฐบาลจีนเพิ่งให้การสนับสนุนไป นอกจากนั้นยังถือเป็นการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเรื้อนและสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ป่วยโรคเรื้อนและครอบครัวมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจีนและคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 29 ควรใช้มาตรการเชิงบวกในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป
แหล่งข่าว: มูลนิธินิปปอน
ติดต่อ:
เคโกะ โมริ
มูลนิธินิปปอน
โทร: +81-3-6229-5131
อีเมล: [email protected]
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --