กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--บีโอไอ
คณะอนุกรรมการบีโอไอ อนุมัติบริษัท ไพศาลสตีล ลงทุน1,475 ล้านบาท ผลิตเหล็กแท่ง 2.5 แสนตันต่อปี แก้ปัญหาเหล็กแพง — ขาดแคลน คาดกระตุ้นใช้วัตถุดิบในประเทศปีละ 2.1 พันล้าน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ) ที่มีนายประวิช รัตนเพียร ทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้บริษัท ไพศาลสตีล จำกัด เพื่อผลิตเหล็กแท่ง ( STEEL BILLET ) ที่จะนำไปใช้ในการผลิตเหล็กรูปพรรณขนาดเล็กเหล็กเส้นก่อสร้างหรือเหล็กลวด มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,475 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่จังหวัดชลบุรี
“ ที่ผ่านมาไทยยังต้องนำเข้าเหล็กแท่ง ปีละกว่า 1.5 ล้านตัน มูลค่า 10,000 — 15,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่เหล็กแท่งจะหาซื้อยากและมีราคาสูงกว่าปัจจุบัน เพราะ ผู้ผลิตต่างชาติหันไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเหล็กที่ไม่มีเตาหลอม ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงกับการขาดแคลนเหล็ก โดยการอนุมัติส่งเสริมลงทุนครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาการซื้อวัตถุดิบเหล็กจากต่างประเทศ และลดการนำเข้าเหล็กแท่งได้ ” นายสุวิทย์กล่าว
สำหรับบริษัท ไพศาลสตีล จำกัด นี้ หลังจากได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว คาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษเหล็ก และปูนขาว เป็นต้น มูลค่ารวม 2,121 ล้านบาท และสามารถผลิตเหล็กแท่งได้ปีละ 250,000 ตัน จากกำลังการผลิตเหล็กแท่งทั้งประเทศรวมปีละ 4,940,000 ตัน
ทั้งนี้บริษัท ไพศาลสตีล จำกัด ได้ลงทุน ซื้อชุดดักฝุ่นควันมูลค่า 60 ล้านบาท เพื่อใช้ในระบบดักฝุ่นและกรองฝุ่น ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบ พร้อมขุดสระกักเก็บน้ำความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้หมุนเวียนในขั้นตอนการหลอมและหล่อเหล็ก และไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกบริเวณโรงงาน
สำหรับภาพรวมมูลค่าการนำเข้า เศษเหล็กและเหล็กแท่งของไทยช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณการนำเข้าลดลง จากปัญหาราคาเหล็กแพงและหาซื้อยากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะผู้ผลิตในต่างประเทศหันไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2549 มูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่งอยู่ที่ 22,660 ล้านบาท ปี 2550 มูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่งลดลงเหลือเพียง 13,945 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2551 นี้ มีมูลค่าการนำเข้าเหล็กแท่ง 5,798 ล้านบาท
- ๖ พ.ย. "เอกนัฏ" นำทีม "ดีพร้อม" ผนึกกำลัง "จังหวัดโทคุชิมะ" ลงนามความร่วมมือ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นโตอย่างยั่งยื
- ๖ พ.ย. "เอกนัฏ" หนุน "ดีพร้อม" เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ สร้างนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วม ต่อยอด S-Curve อุตสาหกรรมไทย
- ๗ พ.ย. TTC ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4