กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กทม.
สถาบันพัฒนาเมือง กทม. เชิญผู้นำเทศบาลนคร 23 แห่งถกปัญหาโลกร้อน พร้อมร่วมกำหนดกลยุทธ์สร้างโลกเย็น ขยายความร่วมมือในระดับท้องถิ่นให้กว้างขวาง เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตน ด้านผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เผยกรุงเทพฯ ยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมลดโลกร้อนต่อเนื่องหวังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียลง 15% ภายในปี 2555
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำท้องถิ่น เพื่อสร้างเครือข่าย “ปฏิบัติการสร้างโลกเย็น” ในระดับเทศบาลนคร 23 แห่ง อีกทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ ตลอดจนความคิดเห็นถึงสถานการณ์โลกร้อนและผลกระทบในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและเดินหน้าแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเทศบาลนครที่เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ นครปฐม นครปากเกร็ด นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร อยุธยา นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา สงขลา หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และนครศรีธรรมราช
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ในโลก โดยส่วนใหญ่มักเป็นเมืองที่อยู่ในทวีปยุโรป อาทิ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมืองเจนีวาและเมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งในทวีปเอเชียก็มีเมืองบางเมืองที่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีและเป็นเมืองน่าอยู่เช่นกัน อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ทั้งนี้กรุงเทพมหานครคาดหวังว่าการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายเทศบาลนครใหญ่ทั่วประเทศ 23 แห่งในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องระหว่างกรุงเทพมหานคร กับเครือข่ายในการกำหนดแผนปฏิบัติการเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในระดับพื้นที่และภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวางยิ่งขึ้นไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่สำคัญคือ ปัญหาโรคระบาด และปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การใช้พลังงานเชื้อเพลิงในปริมาณ 60,000 ตันต่อวันหรือคิดเป็นร้อยละ 50 การใช้พลังงานไฟฟ้า 40,000 ตันต่อวันหรือร้อยละ 33 การทิ้งขยะมูลฝอยและน้ำเสีย 11,000 ตันต่อวันหรือร้อยละ 8 และการประกอบการอื่นๆ 9,000 ตันต่อวันหรือร้อยละ 8 ซึ่งทั้งหมดมีจำนวนมากกว่าปริมาณก๊าซในเมืองใหญ่อื่นๆ อาทิ ลอนดอน ซานฟรานซิสโก หรือโตรอนโต ที่ปล่อยออกมาอีก ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพี่อหาแนวทางการแก้ไขตามกรอบของปฏิญญากรุงเทพมหานครว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย 36 องค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ลดสภาวะโลกร้อน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. 50 เป็นต้นมารวมทั้งการกำหนดวาระกรุงเทพฯ สีเขียว หรือ Bangkok Green Agenda ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการบริหารงานตั้งแต่บัดนี้จนถึง ปี 2555 โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียต่างๆ ลงได้ถึง 15%