กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--SIPA
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA สาขาขอนแก่นได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับ กับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากร ป้อนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ณ ห้องเอราวัณ โรงแรมโซฟิเทลราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ SIPA กล่าวว่า SIPA มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สร้างรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ โดยได้กำหนดให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากความพร้อมของภูมิภาคนี้ มีมากเนื่องจากเป็นแหล่งที่ตั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สร้างคนเข้าตลาดแรงงาน ที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพจำนวนมาก ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เป็นเรื่องสำคัญทำให้ทาง SIPA พยายามศึกษารูปแบบมาโดยตลอดเพื่อให้ศูนย์ฯสามารถผลิตบุคลากรที่มี ประสิทธิภาพและ ยังเป็นจุดศูนย์กลางที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างแท้จริง จึงได้เกิดความร่วมมือนี้ขึ้น SIPA ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงสามารถทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากแผนงานของ SIPA และความพร้อมของจังหวัดขอนแก่นจึงทำให้เกิดโครงการอันเป็นที่มาของการลงนาม ความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือความร่วมมือในส่วนของภาคการศึกษาระหว่าง SIPA และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลคอนเทนท์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Digital Content Center :NEDCC) มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมศักยภาพทาง ด้านดิจิทัลคอนเทนท์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้บริการเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการผลิตผลงานทางด้านดิจิทัลคอน เทนท์ อย่างครบวงจร สำหรับบันทึกความร่วมมือฉบับที่ 2 เป็นความร่วมมือระหว่าง SIPA และสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ,สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบงานสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID แก่ผู้ประกอบการขนส่งไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบงาน สำหรับการจัดการภายใน และการให้บริหารแก่ผู้ใช้บริการให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทย โดยรองรับกับการประยุกต์เทคโนโลยี RFID ( Radio Frequency Identification ) กับสินค้าหรือสิ่งของที่ขนส่ง อันเป็นวิธีมาตรฐานสากลในการจัดการ Logistic ระดับโลก ( Global Logistic Management ) และสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบส่วนกลาง เพื่อให้เกิดโครงสร้างของการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่เป็นมาตรฐานระหว่างผู้ประกอบการขนส่งเข้าด้วยกัน บันทึกความร่วมมือฉบับที่สามเป็นความร่วมมือระหว่าง SIPA ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน ,สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์ Open Source ERP สำหรับสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอิสาน โดยระบบที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นรองรับมาตรฐานทางบัญชีของประเทศไทย และต้องมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้งานในกลุ่มธุรกิจรถบรรทุกสินค้า ซึ่งหลังจากที่พัฒนาเสร็จแล้วผู้พัฒนาจะทำการติดตั้ง จัดฝึกอบรม และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะเป็นหน่วยงานที่คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อดำเนินการโครงการให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ จากการร่วมมือทั้ง 3 โครงการนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทย ในหลายด้าน อาทิ เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สาขา Digital Content ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการผลิต การตลาดและการสร้างทักษะให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งสอดรับกับการให้ SIPA ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางในการดำเนินโครงการ National Software Incubation Center เนื่องจากมีศักยภาพสูงในด้านการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และนอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ต้นแบบเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งาน ซึ่งในวันนี้ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการที่สำคัญ อีก 2 โครงการ คือการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID และ การพัฒนาต้นแบบซอฟต์แวร์ Open Source ERP สำหรับสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน ซึ่งมีสมาชิกอยู่จำนวนกว่า 400 บริษัท ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์กันอย่างแพร่หลาย และจะเป็นการเปิดตลาดซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถบรรทุกขนส่งสินค้า ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น”