กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมถ่ายทอดทักษะ และกระบวนทัศน์ใหม่ด้านระบบค่าตอบแทน แก่องค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอื่น ในภาคราชการ อาทิ ทหาร ตำรวจ กทม. ย้ำทิศทางค่าตอบแทนในอนาคตต้องสอดคล้องกับสภาพตลาด ขณะเดียวกันต้องยึดองค์ประกอบทั้งผลสัมฤทธิ์ของงาน และพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ เป็นหลัก
นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง ทิศทางและแนวปฏิบัติในการบริหารค่าตอบแทน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนทัศน์ใหม่ด้านค่าตอบแทนร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลอื่น อาทิ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ในระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เรื่องค่าตอบแทนถือเป็นเรื่องสำคัญของทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เพราะเปรียบเสมือนขวัญกำลังใจ และเป็นแรงจูงใจที่จะดึงดูดบุคลากรให้ทำงานกับองค์กรนั้นๆ และจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและบัญชีเงินเดือนจากเดิมที่เป็นขั้นเงินเดือนและใช้บัญชีเดียวสำหรับทุกลักษณะงาน เป็นบัญชีเงินเดือนแบบช่วงเงินเดือน แยกตามประเภทตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.จึงได้มีการจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เนื่องจากมีองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลบางหน่วยงานยึดหลักเกณฑ์การบริหารตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับเดิม
“สำนักงาน ก.พ. เห็นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนทัศน์ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบค่าตอบแทน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการเทียบเคียงข้อมูล แนวคิดและวิธีการ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้และต่อยอดความคิดในการปรับปรุงพัฒนาระบบค่าตอบแทนให้เป็นกลไกในการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้มีความสอดคล้องกับอัตราทางการจ้างงานในตลาด ” รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าว
ด้านนายนนทิกร กาญจนะจิตรา ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. กล่าวว่า การบริหารค่าตอบแทนภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จะมุ่งเน้นที่ผลงานเป็นสำคัญ โดยมีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นกลไกชี้วัด เพื่อให้ผู้บังคับบัญชานำผลการประเมินการปฏิบัติราชการไปใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน และการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามหลักของระบบคุณธรรม
ทั้งนี้มีองค์ประกอบสำคัญของการประเมิน ประกอบด้วย 1.ผลสัมฤทธิ์ของงาน ที่พิจารณาจากความสำเร็จของงาน ทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ ความรวดเร็ว และการประหยัด คุ้มค่า และ 2.พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ ซึ่งประเมินจากสมรรถนะหลัก และสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ โดยมีกลไกสนับสนุนความโปร่งใส เป็นธรรม ประกอบด้วย 1.ให้ส่วนราชการประกาศหลักเกณฑ์เพื่อทราบโดยทั่วกัน 2.ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง 3.ให้มีการแจ้งผลการประเมิน และ 4.ให้มีระบบจัดเก็บข้อเท็จจริงจากผลการปฏิบัติราชการ
นายฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า แนวคิดและหลักการการบริหารค่าจ้างนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดึงดูดและรักษาคนดีมีฝีมือไว้กับองค์กร รวมทั้งเพื่อจูงใจทรัพยากรบุคคลให้ใช้ความสามารถสูงสุดในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งหลักการบริหารค่าจ้างต้องประกอบด้วยปัจจัยคือ ความเป็นธรรมภายในองค์กร การแข่งขันภายนอกองค์กร และการจูงใจบุคคล
“จากการปรับโครงสร้างตำแหน่งและค่าตอบแทนภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ส่วนตัวมองว่าถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งระบบใหม่ที่ได้มีการนำมาใช้ในภาครัฐนี้ เป็นแนวคิดและทฤษฎีเดียวกันกับภาคเอกชน ที่มุ่งเน้น การบริหารค่าตอบแทนตามคุณค่าของงาน ส่วนการปฏิบัติและการบังคับใช้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องประยุกต์ ให้เข้ากับสภาพของโครงสร้างและวัฒนธรรมของภาคราชการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะส่ง ผลกระทบบ้าง เนื่องจากภาคราชการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราตลาดต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านต้นทุน” นายฉัตรพงษ์ กล่าว