กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ส่ง 3 ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก หรือโรโบคัพ ซอกเกอร์ สมอลล์ ไซส์ ลีก (Robocup Soccer Small Size League) ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกในงานเวิร์ล โรโบคัพ 2008 (World RoboCup 2008) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน (World RoboCup 2008) ระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคม ศกนี้
ทีมหุ่นยนต์ทั้ง 3 ทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก คือทีมพลาสมา-ซี (Plasma-Z) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมสคูบ้า (SKUBA) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมไข่นุ้ย (Khai Nui) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นตัวแทนสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเพื่อนำ 3 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน กล่าวว่า “ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ทั้ง 3 ทีมขอขอบคุณสมาคมวิชาการหุ่นยนต์และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่สนับสนุนนิสิตนักศึกษาไทยให้สามารถพัฒนาทฤษฏีความรู้สู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนเปิดโอกาสให้พวกเขาก้าวสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ จากการทดสอบและวัดความสามารถของหุ่นยนต์เตะฟุตบอลไทย เราคาดว่าทั้ง 3 ทีมน่าจะสามารถผ่านเข้ารอบลึก ๆ ของการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้”
สมาชิกทีมพลาสมา-ซี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแชมป์จากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ระดับประเทศ จะเดินทางจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 พร้อมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม และสมาชิกในทีมนำโดยหัวหน้าทีมคือนายธีระพล วัฒนเวคิน นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ กล่าวว่า “ปีนี้ทีมพลาสมา-ซีจะพยายามทำผลงานให้ดีที่สุดและจะพยายามคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาให้ได้ โดยทีมพลาสมา-ซี ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์เตะฟุตบอลขึ้นมาใหม่จำนวน 6 ตัว ที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อการกระแทกมากกว่าเดิม ทางทีมจะใช้กล้องตัวใหม่เพื่อให้สามารถมองเห็นพื้นที่ทั่วทั้งสนามซึ่งในปีนี้คณะกรรมการการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 ได้เพิ่มขนาดของสนามแข่งขันให้ใหญ่ขึ้น 20% จากขนาดของสนามในปีก่อน นอกจากนี้ ทางทีมได้ปรับปรุงโปรแกรมให้หุ่นยนต์สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับแผนการเล่นของฝ่าย ตรงข้ามได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย”
สมาชิกทีมสคูบ้า (SKUBA) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ชิงแชมป์โลก 2008 ประกอบด้วยอาจารย์กาญจพันธ์ สุขวิชชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม และสมาชิกในทีมนำโดยหัวหน้าทีมคือนายภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทีมหุ่นยนต์เตะฟุตบอลทีมที่ 3 ที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 คือทีมไข่นุ้ย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สมาชิกในทีมประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มนตรี กาญจนะเดชะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม และในสมาชิกในทีมนำโดยหัวหน้าทีมคือนายธนาคาร สุระกำแหง นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบ การมองเห็น (อัตโนมัติหรือควบคุมแบบไร้สายด้วยคอมพิวเตอร์) ขนาดเล็กทีมละ 5 ตัว เพื่อแข่งขันฟุตบอลซึ่งมีเวลาทั้งหมด 30 นาที แบ่งเป็นครึ่งแรก 15 นาทีและครึ่งหลัง 15 นาที ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2545 จากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทยทางด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ประดิษฐ์เพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ บริษัทซีเกทฯ ให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันทั้งหมดทั้งภายในประเทศและการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนถึงปัจจุบัน ในปีนี้การแข่งขันระดับประเทศ จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทีมฟุตบอลหุ่นยนต์พลาสมา-ซี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์สคูบ้าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไข่นุ้ย ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมชนะเลิศ
บริษัทซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับบันทึกข้อมูลจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และโซลูชั่นที่มียี่ห้อ (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นรายแรกในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทฯ มี ความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล การให้การสนับสนุนแก่ลูกค้าและมีความน่าเชื่อถือเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
หรือนางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: [email protected]
- พ.ย. ๒๕๖๗ การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552 Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2009
- พ.ย. ๒๕๖๗ ทีมขึ้นช่าย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) คว้าชัย การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552
- พ.ย. ๒๕๖๗ ซีเกท เทคโนโลยี จัด “การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2552” รอบชิงชนะเลิศ