กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ดิจิคราฟต์
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับบริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด เปิดตัว “U-Town” มหาวิทยาลัยเสมือนจริงแห่งแรกของไทยพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการศึกษา สร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนผ่านโลกออนไลน์แบบสนุกสนานและ ปลอดภัยถือเป็นการผสานระหว่างความบันเทิงและการเรียนรู้ได้อย่างลงตัว ชี้ปัจจัยหนุนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและการส่งเสริมการใช้ไอทีจากภาครัฐ ตั้งเป้าเป็นแหล่งความรู้ และต่อยอดเชิงธุรกิจในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ โดยทุ่มงบราว 15 ล้านบาท แบ่งงานเป็น 3 เฟส พร้อมเปิดตัว 2 พรีเซ็นเตอร์คนรุ่นใหม่ “โต๋” และ “เบเบ้”
ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดื มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้งานออนไลน์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 9,320,000 คน ส่งผลให้มูลค่าตลาดเกมออนไลน์สูงกว่า 2,700 ล้านบาทในปี 2550 และมีอัตราการโตไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี อีกทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมด้านไอทีจากภราดาภาครัฐ และตลาดการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งเดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊คมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับบริษัทดิจิคราฟต์สร้างสังคมออนไลน์แบบเสมือนจริงด้วยแนวคิด “U-Town” (University Town) คือ มหาวิทยาลัยเสมือนจริงแห่งแรกของไทยบนโลกออนไลน์ ซึ่งจะใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ที่เป็นสังคมปลอดภัย และสร้างสรรค์ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด โดยการร่วมทุนระหว่าง 2 องค์กรด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท
“สำหรับ U-Town มีลักษณะของสังคมออนไลน์เสมือนจริง สร้างในรูปแบบ3 มิติ หรือ 3D-Virtual Community Online โดยสร้างในแบบของเกมส์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนักศึกษา และผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ โดยเข้าไปที่ www.utown.in.th ซึ่งจะเป็นประตูแรกที่นักศึกษาและผู้สนใจสามารถเข้าสู่โลกการศึกษาเสมือนจริงนี้ โดยเว็บไซต์นี้มีหน้าที่เพื่อจัดระบบข้อมูลและการลงทะเบียน (Register System), การสร้างระบบกระทู้ถาม-ตอบ (Web Board), การประกาศกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลของแต่ละสถาบันการศึกษาที่รวมอยู่ใน U-Town ด้วย”
นายวิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในการนำร่องจัดทำโครงการ U-Town โดยได้รับโจทย์จากทางมหาวิทยาลัยฯ และทางบริษัทฯ ก็มีแนวคิดที่จะทำคอมมูนิตี้ในรูปแบบดังที่กล่าวข้างต้นและทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น รูปแบบของ U-Town ไม่ใช่มีเพียงการเรียนการสอนแบบในชั้นเรียนและเว็บไซต์คอมมูนิตี้เท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งเชื่อมโยงโลกของการศึกษาและโลกธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน
เบื้องต้น U-Town จะมุ่งเจาะไปที่กลุ่มนักศึกษาเป็นหลัก และในอนาคตทางบริษัทฯ จะจัดทำแพลตฟอร์มให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ U-Town ด้วย ฉะนั้นนอกจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ U-Town จะเป็นนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว และยังมองกลุ่มเป้าหมายรอง (Secondary Target) ในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ที่ 15 - 18 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่ม Potential Target ที่จะเข้ามาทดลองและเรียนรู้การใช้ชีวิตของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงเข้าไปชมบรรยากาศสถานที่ อาคารเรียนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจได้เสมือนกับเข้ามาสัมผัสการเรียนจริง นอกจากนี้ U-Town ยังจะเปิดโอกาสให้กับกลุ่ม First Jobber จนถึงกลุ่มคนวัยทำงานแล้วได้มีโอกาสเข้าร่วมสังคมนี้อีกด้วย โดยการสมัครเข้ามาเป็นพลเมืองใน U-Town สามารถใช้สิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่จะมีการกำหนดขอบเขตของสิทธิที่พลเมืองในระดับต่างๆ สามารถกระทำได้
U-Town Citizen หรือ พลเมืองใน U-Town แบ่งเป็นหลายประเภทด้วยกัน โดยจะมีการจำกัดสิทธิในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ U-Town เป็นโลกเสมือนจริงสีขาวที่มีระเบียบวินัยและมีความปลอดภัยสูงสุดสำหรับพลเมืองใน U-Town โดยนักศึกษาหรืออาจารย์ในสถาบันจะสามารถใช้ ID Code ในการสมัครเป็นพลเมืองได้ทันที ในส่วนของบุคคลทั่วไปก็จะสามารถใช้เลขที่บัตรประชาชนเพื่อมาสมัครเป็นพลเมืองของ U-Town ในระดับต่างๆได้เช่นกัน ซึ่งระดับของพลเมืองใน U-Town จะแบ่งออกได้ 7 ระดับได้แก่ 1.AUS — นักศึกษาเอแบคปัจจุบัน 2.AUI - อาจารย์เอแบคปัจจุบัน 3.AUO — คณะทำงานของเอแบค 4.VIP - พลเมืองระดับพิเศษ 5.UM- U-Town Master 6.U - พลเมือง U-Town ที่ลงทะเบียนและสามารถยืนยันตัวตนในโลกจริงได้ 7.G -พลเมือง U-Town ที่ลงทะเบียนแต่ไม่สามารถยืนยันตัวตนในโลกจริงได้ 8.V- ผู้มาเยี่ยมชม, แขกที่ไม่ได้ลงทะเบียน โดยที่พลเมืองในระดับที่ 1-7 จะได้รับสิทธิในการสร้างตัวตนเสมือนจริงของตนเอง โดยตกแต่งหน้าตาหรือเลือกเสื้อผ้ารวมทั้งการเลือกเครื่องแต่งกายตามสไตล์ของตนเองได้ตามใจชอบ และยังสามารถจับจ่ายซื้อของหรือใช้สิทธิของตนเองในระดับย่อยต่างๆได้แตกต่างกันไปอีกด้วย ส่วนกลุ่มที่ 8 จะเป็นเพียงผู้เข้ามาเยี่ยมชมทั่วไป
“U-Town เปรียบเสมือนอีกโลกหนึ่งของการใช้ชีวิตจริง ภายใต้สโลแกน “Another World of Life” ในโลกของ U-Town จะทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้เสมือนจริงที่สุด เพราะบนโลกของ U-Town จะมีทั้งส่วนที่จำลองจากสถานที่ๆ มีอยู่จริงในปัจจุบัน เช่น อาคารเรียน บรรยากาศทั่วไปภายในมหาวิทยาลัย และส่วนที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม หรือ Downtown ที่จะเป็นเสมือนแหล่งรวมความบันเทิงของพลเมืองใน U-Town รวมไปถึงระบบพื้นฐานต่างๆที่โลกจริงมี เช่นระบบเงินตราของตัวเอง (Monetary System) ระบบวันเวลาตามจริง (Day-Time System)ระบบฤดูกาล” นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับแผนในการพัฒนา U-Town แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 ที่นำมาเปิดตัวในวันนี้ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสามารถนำรหัสประจำตัวนักศึกษา (ID) มาลงทะเบียนที่ www.utown.in.th และนักศึกษาจะมีหน้าเพจให้ออกแบบความเป็นตัวเองเรียกส่วนนี้ว่า U-Net และมีลักษณะการทำงานคล้ายกับ SNS หรือ Social Network System ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอย่างมากในปัจจุบันเช่น Hi 5 หรือ Facebook แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ U-Net ได้รวบรวมฟังก์ชั่นการทำงานของ Hi 5 และ Facebook ไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งทำให้ U-Net มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น อีกทั้งนักศึกษาที่เป็นสมาชิกยังสามารถใช้เวปไซต์ U-Netในการรับข่าวสารของทางมหาวิทยาลัยได้อีกช่องทางหนึ่ง ส่วนเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 จะเป็นการเชื่อมตัวภาคการศึกษากับภาคธุรกิจ โดยนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไปที่เป็นสมาชิกของ U-Town จะสามารถทำธุรกรรมด้านทะเบียน การเงิน และการซื้อขายสินค้าในรูปแบบของอี-คอมเมิร์ซได้ ซึ่งรูปแบบของการซื้อขายใน U-Town จะมีลักษณะโดดเด่นตรงที่พลเมืองสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าในรูปแบบ 3 มิติ (3D — Virtual) และยังสามารถมีการพูดคุยโต้ตอบ (Interact) กับคนขายได้แบบ Real Time อีกทั้งคนขายสามารถให้ข้อมูลของสินค้านั้น ๆ ได้จริงอีกด้วย และในการซื้อขายจะมีระบบสนับสนุนการชำระเงินทั้งระบบเงินของ U-Town และชำระผ่านบัตรเครดิต ซึ่งในแผนการดำเนินงานจะมีความร่วมมือกับแบรนด์สินค้า ร้านค้าชั้นนำเสมือนกับการเดินเลือกซื้อสินค้าจริงในห้างสรรพสินค้าถือเป็นช่องทางที่จะสร้างรายได้ให้แก่ U-Town นักศึกษาจะมีตัวแทนที่เรียกว่า “อวาตาร์” (Avatar) ที่ออกแบบ ตกแต่งให้เหมือนกับตัวเองได้ และบริษัทฯ ยังคาดหวังว่า U-Town จะเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์บนโลกออนไลน์.ในอนาคตอีกด้วย”
รวมถึงมีแผนในการเปิดหลักสูตรพิเศษแบบออนไลน์ (Online Course) ใน E-Learning Center หรือแม้แต่การอนุญาตให้นักศึกษาขอจองห้องเพื่อติววิชากันแบบ Real Time ใน E-Classroom ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นยังสามารถเข้าไปเดินเล่นหรือหาเพื่อนคุยตามสถานที่ต่างๆ, สนุกกับการช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเสมือนจริงใน Downtown หรือสนุกไปกับ Entertainment Complex ต่างๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ชมคอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งเที่ยวผับบาร์ (เฉพาะพลเมืองที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีขึ้นไป) ร่วม Party หรือ สนุกกับ Event ต่างๆ ภายใต้กรอบและกฏหมายที่กำหนดขึ้นในเมือง U-Town เป็นต้น กิจกรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าร่วมแบบนับไม่ถ้วน ทั้งจากที่บริษัทจัดทำขึ้น และขับเคลื่อนโดยประชากรใน U-Town จัดขึ้นเอง เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกแบบไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนสำคัญ คือ “โต๋” ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร และ “เบเบ้” ธัญชนก ฤทธิ์นาคา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอีกด้วย
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ คุณรชต (ต๊ะ) เอี่ยมวรกุล โทร. 089 447 1717
ข้อมูลทางธุรกิจ คุณมณเฑียร (เหวิน) ฉันทศาสตร์รัศมี โทร. 02 641 9400 ต่อ 610 หรือ 081 848 4945
- ม.ค. ๒๕๖๘ “นักศึกษาสาขาวิชาประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจัดโครงการ “Give Life Through Love : รักจากผู้ให้สู่ใจผู้รับ”
- ม.ค. ๒๑๓๔ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ร่วมกับธนาคารกรุงศรีเปิดตัว Krungsri “The First Virtual Bank in ABAC U-Town”
- ม.ค. ๒๕๖๘ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจวิกฤตทางสังคมของชาติในสายตาประชาชน : กรณีศึกษา ปัญหาคอรัปชั่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และปัญหายาเสพติด