ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บริษัทล็อกซ์เล่ย์” ที่ “BBB+” และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Negative”

พุธ ๐๗ ธันวาคม ๒๐๐๕ ๐๙:๑๘
กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (LOXL06NA, LOXL08NA) ของ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งได้เปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการที่บริษัทมีธุรกิจที่หลากหลาย การเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศ ตลอดจนการมีฝ่ายบริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ยาวนานซึ่งทำให้บริษัทมีบทบาทที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลายประเภททั้งด้านเทคโนโลยีและการค้า อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากอัตราส่วนผลกำไรที่ค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการค้า รวมทั้งจากภาระหนี้ที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากโครงการให้บริการสลากออนไลน์ และความผันผวนของรายได้ที่มาจากงานโครงการต่างๆ
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัทเมื่อเทียบกับระดับของอันดับเครดิตที่ได้รับ โดยบริษัทมีโอกาสที่จะถูกลดอันดับเครดิตหากไม่สามารถปรับปรุงผลประกอบการให้ดีขึ้นภายใน 9-12 เดือนข้างหน้า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทล็อกซ์เล่ย์เป็นผู้ประกอบธุรกิจโฮลดิ้งซึ่งจำแนกธุรกิจหลักออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการค้า โดยกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 5 สายธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐาน สื่อสารโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคและบริโภค และการพิมพ์ ส่วนกลุ่มธุรกิจการค้านั้นจะเกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคและบริโภค และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ตลอดระยะกว่า 60 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้วางรากฐานและรักษาสัมพันธภาพที่ดีทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายซึ่งช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทในการประมูลงานโครงการต่างๆ โดยบริษัทมีจุดแข็งที่สำคัญคือความชำนาญและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารและพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีความสามารถทั้งในด้านเทคนิคและวิศวกรรมซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทล็อกซ์เล่ย์ได้แก่หน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ของกลุ่มลูกค้าภาครัฐเป็นงานประมูล ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทบางส่วนจึงขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของการประมูลงานและความสามารถในการบริหารโครงการ ส่วนรายได้จากการขายสินค้าและบริการซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจการค้า ตลอดจนธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคและบริโภค และบริการหลังการรับเหมาติดตั้งโครงการ (Turnkey Project) เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยเพิ่มจาก 4,476 ล้านบาทในปี 2543 เป็นประมาณ 5,993 ล้านบาทในปี 2546 6,453 ล้านบาทในปี 2547 และ 3,116 ล้านบาทสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2548 โดยสัดส่วนของรายได้จากการขายสินค้าและบริการอยู่ที่ 64%-65% ในปี 2547 และ 6 เดือนแรกของปี 2548 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ในปี 2547 และ 9 เดือนแรกของปี 2548 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนรวมรายได้จากเงินปันผลได้ตกลงไปอยู่ที่ระดับ -0.05% และ -5.16% ตามลำดับจากผลประกอบการในกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคและบริโภคที่ตกต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายจากสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทเองในปี 2547-2548 รวมถึงจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของบริษัทที่มีค่าใช้จ่ายถึง 65 ล้านบาท และจากการตั้งสำรองด้อยค่าจากการลงทุนจำนวน 179 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548
ทริสเรทติ้งยังกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากธุรกิจหลักแล้ว กระแสเงินสดส่วนใหญ่ของบริษัทล็อกซ์เล่ย์ยังมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น ตลอดจนเงินสดรับจากเงินปันผลที่บริษัทได้ลงทุนไว้ บริษัทได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนในระยะยาวในบริษัทหลายแห่ง เช่น บริษัท แอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอชพี สตีล ไลสาจท์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไทยไฟเบอร์ออพติคส์ จำกัด บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท น้ำหวานลาว จำกัด เป็นต้น บริษัทหลักที่จ่ายเงินปันผลคือบริษัทแอสแพค ออยล์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อ “คาสตรอล” และ “บีพี” โดยได้จ่ายเงินปันผลจำนวน 180.3 ล้านบาทให้แก่บริษัทในปี 2547 และ 94.1 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 หนี้สินของบริษัทได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเกินกว่า 100% ในปี 2543 มาอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 38%-43% ในระหว่างปี 2546-2547 และ 9 เดือนแรกของปี 2548 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทคาดว่าจะสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจาก บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกมีแผนจะกู้เงินจากธนาคารโดยมีโครงสร้างเป็นแบบสินเชื่อโครงการ (Project Finance) เพื่อใช้ในโครงการสลากออนไลน์มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำกระแสเงินสดจากโครงการสลากออนไลน์มาชำระคืนหนี้ในส่วนนี้ทั้งหมด--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม