กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
“วัยรุ่น” เป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยพลังกายและพลังสมอง ทำอย่างไรจะให้ “วัยรุ่น” ไทยใช้พลังกายและพลังสมองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเองและสังคมไทย นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสังคมไทยต้องการคนเก่ง เพื่อนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาใช้พัฒนาประเทศ แต่ “เก่ง” อย่างเดียวไม่พอ เด็กจะต้อง “เก่ง” และรู้จักนำ “ความรู้” ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ด้วย แต่ที่ผ่านมาพบว่าสังคมไทยยังขาดกระบวนการเรียนรู้ทางวิชาการควบคู่กับเรียนรู้ชุมชน ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ริเริ่ม โครงการค่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้ขึ้น เพื่อสร้างสมดุลทางการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้สังคม ผ่านการผสมผสานกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประวัติศาสตร์ ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนนำความรู้ที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งค่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้ ครั้งที่ 1 นี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยคัดเลือกเยาวชนคนเก่งระดับมัธยมศึกษาจำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“เพื่อให้เยาวชนได้เห็นรากเหง้าของความเป็นไทย กิจกรรมค่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้ครั้งนี้จึงได้บูรณาการกิจกรรมด้วยการให้น้องๆ เยาวชนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวนา อาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน เรียนรู้การทำนาอินทรีย์ นาปลอดสารเคมี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ควรค่าต่อการเรียนรู้ และการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุให้คงอยู่ในสภาพดีและสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีการทำเว็บบล็อก ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ดีๆ ให้กับผู้อื่น ซึ่งจากการที่ได้พาน้องๆ ไปเรียนรู้ทั้งหมดนี้เชื่อว่าน่าจะช่วยให้น้องๆ สามารถเชื่อมโยงความรู้จากห้องเรียนไปสู่การนำไปใช้จริงได้” นางปิยาภรณ์ กล่าว
น้องหลุยส์ หรือ นายเกรียงไกร ไชยหาญ นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนปัว จังหวัดน่าน เล่าว่า การมาค่ายครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำการเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นอย่างไร เพราะที่บ้านทำสวนลำไยและเคยลองใช้น้ำหมักชีวภาพเช่นกัน แต่ไม่ได้ผล มาครั้งนี้จึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ไม่ได้ผลอาจเป็นเพราะวิธีการหมักของเราเกิดข้อผิดพลาด มีแบคทีเรียอื่นเข้าไปเจริญเติบโต หรืออาจเป็นเพราะจุลินทรีย์ของเราขาดอาหารในการเจริญเติบโตเลยทำไม่ได้ผล นอกจากนี้การลงนาเพื่อจับแมลงยังช่วยให้เข้าใจระบบนิเวศของแมลงมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ “แมลงดีแมลงร้าย” ที่ทำให้รู้ว่าแมลงไม่ได้มีแต่แมลงร้ายที่มากัดกินพืชผลของเราเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีแมลงดีที่ทำหน้าที่ควบคุมประชากรของแมลงด้วยกันเอง
น.ส.พรพรรณ ชนะโรจน์ หรือน้องยุ้ย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดอยุธยา ที่แม้ว่าจะเป็นนักเรียนในพื้นที่ที่จัดค่ายกิจกรรม กลับบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกของการเข้าค่ายในครั้งนี้ว่า เดิมทีตนรู้จักโบราณสถานในจังหวัดอยุธยาทั้งหมด แต่รู้จักเพียงคร่าวๆ สามารถพาเพื่อนไปเที่ยวชมได้เท่านั้น แต่การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายกล้าใหม่ใฝ่รู้ครั้งนี้ทำให้เข้าใจความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยาลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงความเป็นมาและความสำคัญของโบราณสถานแต่ละแห่งได้ และเมื่อได้เข้าเยี่ยมชมในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยายิ่งทำให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของราชธานีศรีอยุธยาเฉกเช่นที่เคยได้อ่านในหนังสือแบบเรียน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุจากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และซ่อมแซมเศษเสี้ยวความทรงจำในอดีตให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
หลังจากที่น้องๆ ได้เป็นผู้รับความรู้ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ในวันสุดท้ายของการร่วมกิจกรรมจึงเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้ โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ดีๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสร้างขึ้น ในเว็บไซต์ www.okkid.net ซึ่งมีลักษณะเป็นเว็บบล็อกเฉพาะสำหรับเยาวชน ให้ได้ใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง ทั้งนี้จากการเรียนรู้เทคนิคการใช้เว็บบล็อก การสร้างสไลด์โชว์นำเสนอเรื่องราวของตนเอง ทำให้ได้เห็นแง่มุมดีจากการเรียนรู้ตลอดทั้ง 2 วันของน้องๆ ซึ่งน้องตา หรือ น.ส.ชลิตา ชาวอบทม นักเรียนชั้น ม. 4 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 3 จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า การทำเว็บบล็อกเปรียบเสมือนการเปิดพื้นที่ให้เราได้นำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาบอกเล่าเรื่องราวให้กับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมได้รับรู้และสัมผัสกับบรรยากาศสนุกสนานภายในค่าย นอกจากนี้ www.okkid.net ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดให้เพื่อนๆ ที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนกล้าใหม่ใฝ่รู้ได้มีโอกาสการติดต่อสื่อสาร และเปลี่ยนกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งกันและกัน
ด้านอาจารย์เสงี่ยม บึงไสย์ อาจารย์โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมค่ายเยาวชนครั้งนี้ที่พาเยาวชนไปลงพื้นที่เก็บเกี่ยวความรู้ และปฏิบัติจริง ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพปัญหาที่แท้จริงของชาวนาไทย รวมไปถึงการรวมตัวและการรณรงค์การใช้เกษตรอินทรีย์ ซึ่งคิดว่าเยาวชนจะสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปปฏิบัติจริงในชุมชนของตนเอง เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปขยายผลกับกลุ่มโครงงานในโรงเรียน และเป็นต้นแบบให้ผู้ใหญ่ในชุมชนนำไปใช้ได้อีกด้วย โดยเฉพาะการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุในจังหวัดอยุธยาน่าจะสามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้กับพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้ เพื่อช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตและประเพณีของคนอีสานที่กำลังจะเลือนหายไป รวมถึงนำแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ทั้งหมดกลับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย
“จากกิจกรรมครั้งนี้ มูลนิธิฯ มุ่งหวังให้เยาวชนได้นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนจากในห้องเรียนมาเชื่อมโยงกับการใช้งานจริงๆ เช่น การบูรณะโบราณสถาน การใช้วิทยาศาสตร์กับการเกษตร อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานของภาคส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกันให้เยาวชนได้เข้าไปสัมผัสกระบวนการทำงานที่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อกัน แม้ว่าแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ก็สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเองมาเชื่อมโยงเข้าหากันได้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างเดียวกัน” นางปิยาภรณ์กล่าวในที่สุด
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: พิธีเปิดงาน "รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง"
- พ.ย. ๒๕๖๗ มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมมือกับเนคเทคจัดทำโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่”
- พ.ย. ๒๕๖๗ มูลนิธิสยามกัมมาจล จับมือ เนคเทค สนับสนุนทุนโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ต่อยอด 10 ผลงานเด่นด้านไอทีของเยาวชนไทย เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริง