กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--กรมควบคุมมลพิษ
‘กรมควบคุมมลพิษ’ ปรับแผนรับมืออุกทกภัย หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2549 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งทรัพยากรน้ำ จนเกิดน้ำท่วมขังเน่าเสีย ซึ่งมีสาเหตุจากขยะและสิ่งปฎิกูล โดยล่าสุดประสานจังหวัด ที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ร่วมสางปัญหาสำรองพื้นที่รองรับ- พักขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ของประเทศ เมื่อปี 2549 ถึงขั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อสภาพการดำรงชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นบริเวณกว้างถึง 47 จังหวัดของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของความเสียหายด้านมลภาวะทางน้ำ อาทิเช่น พื้นที่น้ำเน่าเสียจากการท่วมขัง การระบายคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมจากการท่วมขังลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ภาวะความหมักหมมของขยะและสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำท่วม ตลอดจนความเสียหายต่อระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้ทำการตรวจพบความเสียหายต่อสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ทั้งที่ก่อสร้างอย่างถูกต้องและเป็นแบบเทกอง ใน 12 จังหวัด โดยเฉพาะเทศบาลเมืองสิงห์บุรี ที่มีปัญหาค่อนข้างรุนแรง และกรณีที่เกิดขึ้นต่อระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียใน 14 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองน่าน , เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี , เทศบาลเมืองอุทัยธานี , เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี , เทศบาลเมืองชัยนาท , เทศบาลเมืองสิงห์บุรี , เทศบาลเมืองอ่างทอง , เทศบาลเมืองปทุมธานี , เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา , เทศบาลตำบลพระอินทราชา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , เทศบาลนครอุบลราชธานี , เทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี , เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และ เทศบาลเมืองจันทบุรี ส่งผลให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูระบบต่างๆ เหล่านี้ สูงกว่า 66 ล้านบาท “
รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งอาจทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ที่สร้างผลกระทบต่อระบบแหล่งทรัพยากรน้ำ เป็นกรณีซ้ำซากดังเช่นที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษจึงเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งการขอความร่วมมือจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพในทางปฏิบัติ ทั้งการดูแลสถานที่กำจัด
ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล , สถานที่กำจัดกากของเสียอันตราย , การจัดการสิ่งแวดล้อมของแหล่ง กำเนิดมลพิษหรือกิจกรรมอื่น ที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ตลอดจนการเตรียมพื้นที่สำรองเพื่อใช้รองรับ/พักขยะมูลฝอย การจัดการสิ่งปฏิกูลและการจัดการน้ำเสียในช่วงเกิดน้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
นิชร คงเพชร หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ โทร. 0-2298-2060
ฐปณี จันทคัด /081-534-5382
ภัทรวดี ใจผ่อง /085 239 8400 , 086 334 1984