กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิโกมลคีมทอง เครือข่ายพุทธิกา เครือข่ายธรรมโฆษณ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และ คณะกรรมการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้จัดกิจกรรมพุทธทาสบุ๊คคลับ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551 ในหัวข้อเรื่อง “ปัจฉิมอาพาท พุทธทาสมหาเถระ” ณ ห้องประชุมมงคลนาวิน ตึก สก. ชั้น 10 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
บรรยากาศวันนั้นเป็นไปอย่างอบอุ่นด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน และอบอวลด้วยกลิ่นธรรม การเตรียมรับมือกับความเจ็บป่วย และความตาย ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการดำเนินชีวิตของตนเองในปัจจุบัน ได้อย่างน่าสนใจ
กิจกรรมพุทธทาสบุ๊คลับ เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 12.00 น. ลงทะเบียนปุ๊บก็รับหนังสือ “ปัจฉิมอาพาท พุทธทาสมหาเถระ” ส่วนค่าหนังสือจ่ายเป็นเงินทำบุญ บริจาคแล้วแต่ศรัทธาเข้ากองทุน “ผ้าป่าช่วยการศึกษาเด็กพม่า” ที่จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับอีกหลายๆ เครือข่าย แล้วก็เข้าร่วมเสวนาในเวลา 13.00 น.
วิทยากรในครั้งนี้ คือ น.พ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช หนึ่งในแพทย์ผู้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดในช่วงปัจฉิมอาพาทของท่านพุทธทาส ส่วนผู้ดำเนินรายการ คือ น.พ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ นายแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี
น.พ. นิธิพัฒน์ เล่าถึงประสบการณ์ในการได้เข้าไปดูแลท่านพุทธทาส นอกจากในเรื่องการแพทย์ตามหน้าที่แล้ว คุณหมอยังได้เรียนรู้ “ธรรม” จากท่านพุทธทาส แม้ในตอนแรกเป็นความสนใจในความรู้ที่แปลกใหม่ ที่ตนเองไม่ค่อยพบเจอ
“...ผมระลึกถึงสิ่งที่ท่านเคยพูดและเคยปฏิบัติให้ผมเห็นมาตลอดว่า ความเจ็บและความตายสำหรับ “พุทธทาสภิกขุ" นั้น มันเป็น "เช่นนั้นเอง" หาใช่สิ่งที่ต้องหวาดหวั่น ทุกข์ทรมาน หรือต้องดิ้นรน "หอบสังขารหนีความตาย" แต่อย่างใดไม่ ผมจึงรู้ว่า ไม่มีอะไรที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจในการจากไป...”
นอกจากนี้ น.พ.นิธิพัฒน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า
“...สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์อีกประการหนึ่ง ก็คือทัศนะและการปฏิบัติของท่านในเรื่องความเจ็บป่วย การรักษา และการตาย ทำให้เห็นว่าในระบบวิทยาการของการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มุ่งจะค้นหาและวิเคราะห์ส่วนย่อยของร่างกายที่ผิดปรกติ เพื่อความเข้าใจปรากฏการณ์แล้ววางแผนการรักษาไป โดยไม่ได้มองว่าการเจ็บป่วยของมนุษย์นั้น ไม่ได้มีเพียงมิติทางร่างกายเท่านั้น สิ่งที่เราละเลยกันมาก ก็คือ มิติทางจิต (Mental) และวิญญาณ (Spiritual) ของผู้ป่วย ทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดการประสานกลมกลืนทั้ง ๒ มิตินี้ ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ในการเยียวยารักษาผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง นี่เป็นปัญหาที่ผมต้องขบคิดและมุ่งหวังให้แพทย์ในระบบปัจจุบันได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน จะช่วยให้เราปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแพทย์ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และเมื่อใดที่เราทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เมื่อนั้นเราย่อมปฏิบัติธรรมไปในตัว ดังที่ท่านอาจารย์มักจะพูดอยู่เสมอว่า "การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" หรือ "ธรรมะคือหน้าที่" นั่นเอง...”
ในช่วงท้ายการเสวนา ผู้ฟังและวิทยากรผลัดกันถามผลัดกันตอบ ทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจกันไปเต็มที่ เป็นภาพที่ชื่นใจแก่คณะผู้จัดงานก็หวังว่า การจัดงานครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เข้าร่วมงานหลายๆ คน เตรียมรับมือกับความเจ็บป่วย และความตาย และสามารถนำหลักธรรมที่ได้ไปปรับ ประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้ รวมถึงนำธรรมดังกล่าวไปเผยแพร่ให้แก่คนอื่นๆ รอบตัว และหวังว่าในการจัดกิจกรรมพุทธทาสบุ๊คคลับ ครั้งต่อไป ซึ่งยังคงมีอยู่ทุกเดือน จะได้รับความสนใจจากมวลมิตร และสมาชิกในสังคม เข้าร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่นอย่างนี้ต่อไป ... ไว้ครั้งหน้าพบกันใหม่นะคะ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์, SCG พร้อมด้วย PMAT และ SCB เปิดนิทรรศการ "สติ Space" ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรและมูลนิธิเกียรตินาคิน สนับสนุนหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
- ธ.ค. ๗๖๓๙ สวนโมกข์กรุงเทพเปิดคอร์สจาก“พระสูตร...แพลทฟอร์มชุดความรู้ชีวิตและสังคมของพระพุทธองค์” สู่คำถาม “การปฏิรูปประเทศไทย ธรรมะช่วยอะไรได้บ้าง?”