กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กฟผ.
กฟผ. พร้อมผู้ปฏิบัติงาน จัดโครงการ กฟผ. คืนช้างสู่ป่า ร่วมมอบช้าง 3 ตัว ให้แก่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ถวายเป็นพระราชกุศล 81 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2551 พร้อมจัดทำรั้วพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาณาเขตป้องกันช้างและสัตว์ป่าให้อยู่อย่างปลอดภัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ใน “โครงการ กฟผ. คืนช้างสู่ป่า” เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการถวายเป็นพระราชกุศล 81 พรรษา พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. และ...ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง 201 อาคารสำนักผู้ว่าการ สำนักงานกลาง กฟผ. บางกรวย จ.นนทบุรี
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ กล่าวว่า มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากและใกล้ สูญพันธ์ โดยในปี 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริที่จะรวบรวมช้างจำนวน 81 เชือก ปล่อยคืนสู่ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชปณิธานฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า มูลนิธิฯ ได้เห็นว่า กฟผ. มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน จึงได้เชิญชวนเข้าร่วมโครงการในส่วนของการก่อสร้างรั้วพลังแสงอาทิตย์ ที่มีความยาว 11 กิโลเมตร เป็นแนวรั้วทางทิศเหนือ 4.3 กิโลเมตร และทิศใต้ 6.7 กิโลเมตร เพื่อเป็นอาณาเขตให้ช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ได้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยในบริเวณอาณาเขตอุทยานฯ ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้แสดงความจำนงในการร่วมบริจาคช้างให้แก่มูลนิธิฯ จำนวน 3 ตัวอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการ มูลนิธิฯ จะจัดหาช้างมาดูแลสภาพร่างกายและจิตใจ ตรวจรักษาโรค ปรับพฤติกรรมให้ช้างรู้จักหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ เรียนรู้ลักษณะภูมิประเทศที่อาศัย และออกหากินโดย ไม่ใช้การควบคุมบังคับ เพื่อให้ช้างสามารถอยู่รวมกันเป็นโขลงในป่า แล้วจึงคืนอิสระให้ช้างดำรงชีวิตในป่า ตามธรรมชาติ โดยมูลนิธิฯ จะติดตามพฤติกรรมของช้างต่อไปในระยะยาว ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้เลือกสถานที่สำหรับปล่อยช้างที่ได้รับการปรับพฤติกรรมแล้ว โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่
ด้านนายสมบัติ กล่าวว่า กฟผ. และช้างมีความผูกพันกันมาก ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ใช้ช้างเป็นพาหนะเข้าไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปได้ ช้างจึงอยู่เบื้องหลังการพัฒนาไฟฟ้า ของประเทศมายาวนาน และเมื่อมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ซึ่งมี ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานได้เชิญชวนให้ กฟผ. เข้าร่วมอนุรักษ์ช้างไทย กฟผ. จึงได้ริเริ่มโครงการ กฟผ. คืนช้างสู่ป่า เพื่อร่วมจัดหาช้างปล่อยคืนสู่ป่า รวมจำนวน 3 ตัว โดยเป็นการบริจาคในนาม กฟผ. 1 ตัว ได้มีการมอบเงินให้แก่มูลนิธิฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ในโอกาสครบรอบ 39 ปี กฟผ. เป็นจำนวน 1 ล้านบาท ส่วนการจัดหาช้างอีก 2 ตัว เป็นความร่วมมือและใจบุญของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่ได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัว มอบให้แก่มูลนิธิฯ ในวันนี้ เป็นจำนวน 1 ล้านบาท และขณะนี้ยังมีการบริจาคอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะจัดหาช้างได้เพิ่มอีก 1 ตัว รวมเป็น 4 ตัวในเร็ววันนี้อีกด้วย
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการก่อสร้างรั้วพลังแสงอาทิตย์ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2551 ซึ่ง กฟผ. มุ่งหวังว่าภารกิจที่ได้เข้าร่วมครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มประชากรช้างให้เป็นสัตว์คู่บ้านเมืองเราต่อไป
ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่ดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 155 ตารางกิโลเมตร หรือ 96,875 ไร่ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลำสนธิ และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับชาวบ้านรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในการดูแลพื้นที่โดยรอบเพื่อป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้เล็ดลอดออกไปนอกพื้นที่ได้ ซึ่งเมื่อ กฟผ. ได้จัดทำโครงการคืนช้างสู่ป่า ร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ในการสร้างรั้วพลังแสงอาทิตย์ให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น จะมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ช้างและสัตว์ป่าต่างๆ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกาอยู่ได้อย่างสงบสุข สร้างระบบนิเวศวิทยาให้คงอยู่ ช่วยอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของป่าไม้และชีวิตสัตว์ป่าให้คงอยู่คู่ประเทศไทย