สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ฯออกแถลงการณ์ จี้รัฐแก้ปัญหาพลังงานก่อนอุตฯยานยนต์ล่ม

พฤหัส ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๐๘ ๑๖:๕๐
กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
“สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย” จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาพลังงานชาติให้ถูกทาง ก่อนอุตสาหกรรมยานยนต์มูลค่าล้านล้านบาทในฐานะอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ชาติมีปัญหา ฉะนั้นรัฐควรตระหนักก่อนไทยเสียโอกาสขึ้นแท่นศูนย์การผลิตโลก ชี้ 6 มาตรการแก้ไขจากรัฐแค่ซื้อเสียงประชาชนระยะสั้น
นายอโณทัย เอี่ยมลำเนา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) เปิดเผยถึงกรณีปัญหาวิกฤติราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาจนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคประชาชน จนก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติขึ้นทุกขณะว่า ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมฯ ประเมินว่ารัฐบาลไม่เพียงแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นระบบ แต่กลับไม่จริงจังกับการจัดการในเรื่องนี้แต่อย่างใด ซึ่งไม่ว่าน้ำมันจะขยับขึ้นสูงไปเท่าใด กลับไม่มีการตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นกลับเน้นเพียงการส่งเสริมเพียงกลุ่มผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ ถึงกับวาดแผนออกนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ปริมาณการใช้รถเครื่องยนต์เบนซินมีเพียง 35% ของประเทศ ขณะที่คนกลุ่มใหญ่รวมทั้งภาคขนส่งและเชิงพาณิชย์นั้นใช้เครื่องยนต์ดีเซล แต่รัฐฯ กลับละเลยการแก้ปัญหาและออกนโยบายส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว
ที่ผ่านมานั้นหากรัฐบาลชุดนี้ได้มีการวิเคราะห์และตระหนักถึงเป้าหมายของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีการสานต่อกันจากหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาก็จะทราบทันทีว่า ประเทศไทยแข็งแกร่งในเวทียานยนต์โลกจากการเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ 1 ตันของโลก โดยมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งระบบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท สร้างรายได้เข้าประเทศ ณ ปัจจุบันปีละมากกว่า 5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มาจากส่งออกปิกอัพกว่า 80%
“ปิกอัพเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทยมายาวนานจนขึ้นแท่นการเป็นฐานผลิตใหญ่ที่สุดในโลก นั้นเพราะบริษัทรถเห็นศักยภาพของตลาดในประเทศ บวกกับความพร้อมในทุกด้านของไทย แต่วันนี้รัฐบาลกำลังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยนโยบายที่กลับไปกลับมา เช่นตอนแรกเคยจะส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี85 ครั้นเอกชนนำเรื่องไปศึกษาจะผลักดันอย่างจริงจังกลับไม่มีหลักประกันทางนโยบายจากรัฐที่ชัดเจน ทั้งในแง่ภาษี การส่งเสริมลงทุนและการจัดหาน้ำมัน แถม ให้หลังไม่กี่สัปดาห์บอกจะเน้นไปที่แก๊สโซฮอล์ อี100 แทน ขณะเดียวกันนั้นก็ส่งผลถึงความไม่มั่นใจของเอกชนไปอีกหลายโครงการ รวมถึงการลงทุนผลิตอีโคคาร์ที่มีมูลค่าโครงการประมาณแสนล้านบาทและจะเพิ่มในอนาคตอีกเท่าตัวด้วย โดยที่ผู้ประกอบการก็ไม่กล้าสอบถามรัฐเองโดยตรง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อแน่ว่าต้องส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มทุนยานยนต์ข้ามชาติและอีกหลายสาขาแน่นอน
จากกรณีปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและหันไปใช้แก๊สเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแอลพีจีนั้นมียอดเฉลี่ยติดตั้งต่อเดือนถึง 1 แสนคัน ซึ่งจากรายงานของ ปตท. ยังระบุอีกว่า ปริมาณการใช้แอลพีจีเพิ่มเป็น 380,000 ตันต่อเดือนจาก ปกติอยู่ที่ 340,000 ตันต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงรถยนต์นั่งเท่านั้นที่หันไปติดตั้งแก๊ส แต่รถปิกอัพและรถตู้จำนวนมากถึงกับปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์เบนซินแทนทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อรถมาเพียงไม่กี่วัน”
“สมาคมฯ เข้าใจว่าประชาชนไม่มีทางออกจึงต้องหันไปพึ่งพาแอลพีจี เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมันถึง 1 ใน 3 ขนาดว่าปิกอัพป้ายแดงยังยอมถอดเครื่องดีเซลคอมมอนเรลใหม่มูลค่านับแสนไปขายในราคาต่ำแค่ 2-3 หมื่นบาท แล้วหันไปซื้อเครื่องเบนซินมือสอง 1J หรือ 2J จากญี่ปุ่นซึ่งเดิมราคาต่ำมากแค่ 1-2 หมื่นบาท แต่ตอนนี้ราคาขยับขึ้นไปเป็น 3—5 หมื่นบาทแล้วแต่สภาพ ขณะเดียวกันอู่ที่รับติดตั้งหลายแห่งยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอ เท่ากับว่าผลักให้ผู้บริโภคไปเสี่ยงตาย ซึ่งรถที่ติดตั้งแอลพีจีไม่ได้มาตรฐานก็ไม่ต่างอะไรกับการขับรถติดระเบิดเคลื่อนที่ โดยที่รัฐไม่ได้ออกมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยกตัวอย่างประเทศอิตาลีนั้นมีการใช้แก๊สแพร่หลาย จนถึงกับออกกฎหมายว่ารถที่ติดตั้งแก๊สนั้น ไม่สามารถจอดที่ชั้นใต้ดินเพื่อความปลอดภัย แต่ในไทยไม่มีอะไร ไม่มีกฎหมายรองรับเลย แล้วต่อไปประชาชนจะอยู่กันอย่างไร“
ทางสมาคมฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ ครั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐออกมาแจกแจงแผนแม่บทพลังงานให้ชัดเจน พร้อมกับตอบคำถามสังคมให้ชัดโดยเร็วที่สุดก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไปมากกว่านี้ในอนาคต
“หากรัฐจัดระบบให้ดี ก็จะตอบคำถามและชี้นำประชาชนให้เดินไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ เพราะทุกพลังงานนั้นมีความเหมาะสมกับรถทุกประเทศ เช่นกรณีรถใช้แก๊สโซฮอล์ รัฐก็เริ่มมีทางเลือกที่หลากหลายให้แต่มันไม่ชัดเจน และน่าแปลกที่แก๊สโซฮอล์ อี20 กลับไม่มีการผลิตป้อนในปั๊มทั้งๆ ที่ยอดขายรถอี20 พุ่งกว่าเดือนละร่วม 20,000 คัน ส่วนกรณีเอ็นจีวีนั้นก็เหมาะกับรถเพื่อการขนส่งในเมืองเพราะสะอาดไร้มลพิษ และเหมาะกับรถทั่วไปที่วิ่งในเส้นทางประจำที่มีแนวท่อก๊าซพาดผ่าน หรือกรณีไบโอดีเซลก็มีปัญหาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โปรเจ็คไม่เดินหน้า ทั้งๆ ที่นี่เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาหลายสิบปีแล้ว แต่กลับไม่มีใครใส่ใจมากนัก แม้ล่าสุดรัฐจะออก 6 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนก็ตามแต่หลายฝ่ายมองว่า รัฐไม่มีทางออกในระยะยาว เพียงแต่ทำเพื่อหาเสียงเท่านั้น“
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาท่านรัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่ายรวมทั้งผู้ประกอบการเองต่างก็ให้ความนับถือ ที่สำคัญคืออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องความฝากความหวังไว้กับรัฐ การที่สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ฯ ออกมาเคลื่อนไหวกับประเด็นปัญหานี้ เนื่องจากถือเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่รับผิดชอบกับการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับยานยนต์โดยตรง ได้สัมผัสกับข้อมูลด้านเทคนิคของรถยนต์แต่ละยี่ห้อมาโดยตลอด จึงอยากให้รัฐพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนและเป็นธรรม ก่อนที่จะออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนกับสังคมในวงกว้าง ไม่เช่นนั้นความเสียหายอาจเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจก็เป็นได้
รายละเอียดเพิ่มเติม : สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย
Tel : 0-2522-1731, 0-2971-6450-60 ต่อ 213 Fax : 0-2971-6462

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๐๐ วว. จับมือจังหวัดสระบุรี/อบต.ตาลเดี่ยว ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก นำ วทน. พัฒนาศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน
๑๑:๐๐ วว.จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมวิจัยนวัตกรรม พัฒนาบัณฑิตสมรรถนะสูง ด้วยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
๑๑:๓๗ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!
๑๑:๒๖ GFC เสิร์ฟข่าวดีรับศักราชใหม่ปี 68 ดีเดย์ให้บริการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก GFC Ubon เต็มสูบ
๑๑:๐๐ โรงพยาบาลลานนา จัดอบรม ชาวลานนาร่วมใจ ต้านโรคภัยจากภาวะอ้วนลงพุง
๑๑:๑๕ ค้นหา รักแท้ ในมุมมองใหม่กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในกิจกรรม ธรรมะในสวน ณ สวนเบญจกิติ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้
๑๑:๑๐ เชฟรอน (ไทย) รุกเจาะตลาดน้ำมันเครื่อง เพื่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
๑๑:๐๗ RML เปิดศักราชปี'68 มาแรง! หุ้นกู้มีหลักประกันขายหมดเกลี้ยง 100%
๑๑:๐๐ สมาคมดินโลก ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการจัดการดินเพื่อเกษตรยั่งยืน
๑๐:๐๐ ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค ฉลองเทศกาลตรุษจีนสุดยิ่งใหญ่ CHINESE NEW YEAR 2025