รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2551

อังคาร ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๐๘ ๑๖:๑๓
กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์จากต่างประเทศสุทธิผ่านการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศจากการบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าการลงทุนเริ่มมีทิศทางการขยายตัวที่ชะลอลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับต้นทุนผู้ประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เสถียรภาพภายในประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับต่อสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ช่วงไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ร้อยละ 9.4 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 34.2 ต่อปี และร้อยละ 28.4 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับเครื่องชี้การบริโภคด้านสินค้าคงทนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 29.3 ต่อปี ในเดือนมิถุนายนและร้อยละ 24.8 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 5.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี เนื่องจากรายได้ประชาชนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 71.9 จุด จากระดับ 72.5 จุด ในไตรมาสแรกของปี 2551 เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 โดยเฉพาะเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 10.1 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.3 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การลงทุนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2 ที่กลับมาหดตัวร้อยละ -20.9 ต่อปี และร้อยละ -5.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการหดตัวของรถบรรทุกและรถปิคอัพ ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างที่วัดจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี และร้อยละ 29.3 ต่อปี ในเดือนมิถุนายนและในไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ อันเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายปูนซีเมนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกที่ร้อยละ 3.5 ต่อปีในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 พบว่ารายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาลจาก 3 กรมจัดเก็บยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปีในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 12.1 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายได้จัดเก็บจากภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปีในเดือนมิถุนายน และขยายตัวที่ร้อยละ 16.2 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี สะท้อนถึงรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ในด้านภาษีฐานการบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 16.0 และร้อยละ 15.8 ต่อปีในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ตามลำดับ เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นประกอบกับการบริโภคยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายงบประมาณในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 143.2 พันล้านบาท และ 424.6 พันล้านบาท ตามลำดับ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2551 (เดือนตุลาคม 2550 — มิถุนายน 2551) เบิกจ่ายได้ 1,220.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี แบ่งออกเป็นรายจ่ายงบประมาณจำนวน 1,134.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 68.3 ของกรอบวงเงินงบประมาณปีงบประมาณ 2551 (1,660 พันล้านบาท) และรายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 86.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณปีงบประมาณ 2551 ซึ่งสะท้อนบทบาทภาคการคลังในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่
4. การส่งออกในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ขยายตัวได้ในระดับสูงมาก โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายน และในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 16.3 และ 45.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ หรือขยายตัวที่ร้อยละ 27.4 ต่อปี และร้อยละ 25.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับสาเหตุหลักที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 14.3 ต่อปีในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 12.5 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะราคาสินค้าส่งออกหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 45.8 ต่อปีในไตรมาส 2 ในขณะที่ปริมาณสินค้าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 11.5 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 11.3 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในตลาดส่งออกใหม่ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงค์โปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เป็นต้น สำหรับการนำเข้าในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวชะลอลงตามการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการนำเข้าในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 15.6 และ 45.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 30.7 ต่อปี และร้อยละ 29.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับดุลการค้าในเดือนมิถุนายนเกินดุลที่ 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 กลับมาเกินดุลการค้าเล็กน้อยที่ 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับการขาดดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 จำนวน -1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 36.4 ต่อปี และร้อยละ 38.2 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี และ 8.5 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.2 ล้านคน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 3.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.7 ต่อปีในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 14.9 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน ยุโรปและอเมริกาสามารถขยายตัวในอัตราสูง ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนมิถุนายน และในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี และร้อยละ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่ยังขยายตัวได้ดี
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในด้านเสถียรภาพภายนอกนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า แต่เสถียรภาพในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี และร้อยละ 7.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ เดือนพฤษภาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 36.1 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ร้อยละ 50.0 ของ GDP ค่อนข้างมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ